fbpx

บทสัมภาษณ์คุณก้อง (Jaithep Raroengjai)

หลังจากในครั้งก่อนได้สัมภาษณ์คุณปอนไป ครั้งนี้มาถึงบทสัมภาษณ์คนไทยในญี่ปุ่นท่านที่สามที่คุณปอนได้แนะนำมา ผู้ซึ่งเป็น Freelance Music Composer, Videographer ที่ได้สร้างผลงานต่างๆ ในประเทศไทย อาทิเช่น ดนตรีประกอบ ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น ซีซั่น 1 หรือภาพยนตร์ฮาวทูทิ้ง ฯลฯ เป็นต้น เรามาทำความรู้จักพร้อมฟังประสบการณ์ในการมาใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นกันเลยค่ะ

ถ้ามีจุดมุ่งหมายที่จะทำ ก็อยากให้ทำให้เต็มที่

– JAITHEP RAROENGJAI (KONG)

บทสัมภาษณ์

รบกวนแนะนำตัวหน่อยค่ะ

คุณก้อง :
ชื่อใจเทพ ร่าเริงใจ ชื่อเล่นว่าก้องนะครับ

ตอนนี้ทำอะไรอยู่คะ?

คุณก้อง :
ตอนนี้เป็นฟรีแลนซ์ครับ รับทำเพลงประกอบโฆษณา เพลงซีรีย์ แล้วก็รับเป็นฟรีแลนซ์ถ่ายวีดีโอด้วยครับ

อยากทราบเหตุผลที่ทำไมถึงตัดสินใจมาเรียนหรือว่าใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นคะ?

คุณก้อง :
จริงๆ ผมชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นอยู่แล้วครับ แล้วก็มีแรงบันดาลใจที่ได้มาจากภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ผมชื่นชอบมากด้วยครับ ถ้าเราจะเรียนต่ออะไรที่เราชอบ ก็ควรจะมาที่แหล่งกำเนิดของสิ่งเหล่านั้นน่าจะดี ก็เลยตัดสินใจมาที่นี่ครับ

จากที่คุณปอนแนะนำมา คุณปอนเกริ่นว่าคุณก้องเรียนด้านวิศวะแล้วตัดสินใจเปลี่ยนแนวมาเรียนด้านทำเพลง ตรงนี้ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยได้ไหมคะ?

คุณก้อง :
คือตอนช่วงม.ปลายก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยที่เราเลือกเข้าวิศวะก็เพราะกระแสครับ เพราะเรียนสายวิทย์คณิตมาด้วย แต่พอเรียนไปแล้วเราก็รู้สึกว่าไม่ได้ชอบขนาดนั้น ซึ่งตอนที่เรียนอยู่เราก็ไปเข้าชมรมดนตรีแล้วรู้สึกว่ามันใช่มากกว่า ผมก็เลยขลุกอยู่กับตรงนี้มากกว่าทำให้เรื่องการเรียนก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ในตอนนั้น ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาเค้าก็สังเกตเห็น ช่วงประมาณปีสามอาจารย์เลยเรียกคุณแม่ไปคุยว่าทางวิศวะสำหรับผมอาจจะไม่รุ่งนะ ให้ไปทำอะไรที่ชอบดีกว่า

แล้วก็เลยเปลี่ยนมาเรียนนิเทศศาสตร์ภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพใช่ไหมคะ?

คุณก้อง :
ครับ สาเหตุที่เลือกเรียนสาขาภาพยนตร์ก็เพราะช่วงที่ก่อนจะย้าย อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าผมมีภาพยนตร์ที่ชอบมาก เรื่องนั้นคือ いま、会いにゆきます (Be With You) เพลงประกอบค่อนข้างเพราะมากๆ แล้วตอนนั้นผมเล่นดนตรีอยู่แล้วก็เลยอยากทำเพลงประกอบหนังแบบนี้ รู้สึกว่าเราอยากทำเพลงให้คนดูอินแบบที่เราอินเวลาดูหนังบ้าง ก็เลยเริ่มหาข้อมูลว่าถ้าทำเพลงประกอบต้องทำยังไงบ้าง แล้วเกิดความคิดว่าถ้าเราเป็นแค่คนดูเราก็จะไม่รู้วิธีทำเพลงให้คนอินใช่ไหมครับ ถ้าเราเรียนรู้วิธีผลิตด้วย ได้รู้วิธีการทำงานของการผลิตภาพยนตร์ขึ้นมา ก็น่าจะทำงานสายดนตรีได้ง่ายขึ้นนะ ก็เลยตัดสินใจมากเรียนการผลิตภาพยนตร์ก่อน เพื่อที่จะเรียนดนตรีต่อ (หัวเราะ)

พอเรียนที่ม.กรุงเทพจบแล้ว ก็มาเรียนต่อที่ญี่ปุ่นเลยใช่ไหมคะ?

คุณก้อง :
พอเรียนจบแล้วผมก็เข้าไปทำงานในบริษัทภาพยนตร์ก่อนครับ

แล้วทำไมถึงคิดที่จะมาเรียนที่ญี่ปุ่นเหรอคะ?

คุณก้อง :
คือพอเราเรียนจบแล้วเข้าไปทำงานตรงกับสายที่เราเรียนมาแล้วแล้วรู้สึกว่ามันก็ยังไม่พออยู่ดี เพราะเหมือนกับว่ามันยังมีสิ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับดนตรีอีกเยอะเลยเหมือนกัน แล้วบังเอิญว่าผมหาข้อมูลแล้วปรากฎว่าโรงเรียนที่ผมเลือกเรียนตอนนี้ นั่นก็คือ Shobi College of Music ก็มีสาขานี้โดยตรงพอดี คือสาขาดนตรีประกอบภาพเคลื่อนไหวครับ เป็นคอร์สเรียนสองปี

เรียนเป็นภาษาอะไรคะ?

คุณก้อง :
ภาษาญี่ปุ่นครับ

แสดงว่าก่อนที่มาเรียนที่นี่ เราได้ภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้วใช่ไหมคะ?

คุณก้อง :
ไม่ค่อยครับ มาได้จากการเรียนภาษาที่นี่ครับ ก่อนเข้าเรียนผมเรียนภาษาญี่ปุ่นก่อนสองปีครับ

ถ้าอย่างนั้นจนถึงวันนี้อาศัยอยู่ญี่ปุ่นมาแล้วสี่ปีใช่ไหมคะ?

คุณก้อง :
ใช่ครับ ก็คือเหมือนจะเป็นระบบของเค้านะครับที่เรียนภาษาก่อนสองปี แล้วหลังจากนั้นก็เลือกเข้าเรียนสาขาที่สนใจ

แบบนี้ตอนที่เข้าเรียนสาขาดนตรีนี่ต้องสอบเข้าก่อนไหมคะ?

คุณก้อง :
มีครับ มีออดิชั่นครับ เพราะเค้าต้องวัดพื้นฐานดนตรีของเราก่อนด้วยครับว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อที่เค้าจะประเมินว่าเราจะเรียนได้ไหม

ขอย้อนกลับไปช่วงที่ยังทำงานอยู่ที่ไทยหน่อยนะคะ ตอนนั้นทำงานเกี่ยวกับอะไรคะ?

คุณก้อง :
ช่วงแรกทำด้าน post production เป็น Coordinator ครับ เป็นคนที่ดูแลภาพยนตร์ตั้งแต่ตอนถ่ายเสร็จไปจนถึงฉายในโรง เป็นคนประสานงานกับแผนกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานภาพยนตร์ทั้งหมดครับ จนหนังฉายโรงเสร็จก็จบงาน เป็นเรื่องๆ ไป

ทราบมาว่าทำงานกับ GDH ขอทราบจุดเรื่มต้นหน่อยค่ะว่ามายังไง?

คุณก้อง :
ก็ส่งใบสมัครเลยครับ (หัวเราะ) พอดีมีเพื่อนในมหาลัยคนนึงเค้าทำงานอยู่ในบริษัทที่ทำ CG ให้กับบริษัทในเครือก่อนครับ แล้วพอดีว่าเค้าประกาศหาโปรดิวเซอร์พอดี แล้วเพื่อนคนนี้เลยเห็นว่ามันตรงกับสายที่เราชอบก็เลยบอกให้ผมลองส่งใบสมัครไปดู พอส่งแล้วก็ไปคุยกับเจ้านายแล้วก็ผ่านครับ

อันนี้คือในฐานะของฟรีแลนซ์เหรอคะ?

คุณก้อง :
เป็นพนักงานประจำเลยครับ

แสดงว่างานที่ทำที่ไทยที่กล่าวมาก่อนหน้านี้คือในเครือของ GDH ใช่ไหมคะ?

คุณก้อง :
ใช่ครับ คือถ้าบริษัทในเครือมีชิ้นงานที่ต้องการทำเพลงเพิ่มพิเศษก็จะติดต่อมาให้ช่วยทำครับ

ได้ยินว่าคุณก้องทำเพลงให้กับภาพยนตร์เรื่อง ฮาวทูทิ้ง ทั้งหมดเลย พอจะเล่าที่มาให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ?

คุณก้อง :
เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ทำเพลงประกอบภาพยนตร์จริงๆ ก่อนหน้านั้นผมจะทำเป็นคล้ายๆ กับโฆษณาแล้วก็ซีรีย์ อย่างซีรีย์ที่แจ้งเกิดเลยก็เรื่องฮอร์โมน ซีซั่นแรก ก็คือทำเพลงเปิดครับ หลังจากนั้นก็ทำเพลงกับนาดาวมาเรื่อยๆ ครับ ต่อจากนั้นก็ ผู้กำกับจีดีเอชที่เค้าไปทำงานกำกับโฆษณา ถ้าเค้าเห็นว่าเพลงโฆษณาตรงกับงานเพลงของผมเค้าก็จะติดต่อมาให้ทำ ก็เลยได้งานเพลงโฆษณามาด้วยระหว่างนั้นครับ ส่วนฮาวทูทิ้งผมรับงานมาทำตอนที่เรียนอยู่ญี่ปุ่นในฐานะฟรีแลนซ์ครับ คุยงานผ่านวีดีโอคอลครับ ซึ่งโชคดีที่ตอนเราเรียนเราก็จะมีเพื่อนๆ นักดนตรีญี่ปุ่นอยู่ ที่ญี่ปุ่นเค้าจะค่อนข้างมีการปลูกฝังด้านดนตรีมาอย่างดี ผมก็เลยชวนเค้ามาช่วยอัดด้วยครับ ก็เลยได้คอนเนคชันไปด้วย

แล้วก็เห็นว่าระหว่างเรียนที่ญี่ปุ่นก็มีโปรเจ็กต์หลายอย่างเลยที่ทำใช่ไหมคะ มีอะไรบ้างเล่าให้ฟังคร่าวๆ ได้ไหมคะ?

เป็นเด็กเสิร์ฟครับ (หัวเราะ) ก็คือว่าพอเราอยู่ที่นี่แล้วเราก็ต้องหารายได้เพื่อมาจ่ายค่าจิปาถะต่อเดือนใช่ไหมครับ ผมก็เลยหางานทำ ซึ่งลองทำมาหลายงานเลยไม่ว่าจะร้านอิซากายะ ร้านของญี่ปุ่นเลย แต่ก็รู้สึกว่าไม่ใช่ครับ ก็เลยลองกลับมาทำร้านอาหารไทยแล้วรู้สึกว่ามันใช่กว่า อีกอย่างคือการที่ได้มาอยู่ต่างแดนแล้วมีสังคมไทยเล็กๆ แล้วรู้สึกว่าปลอดภัยกับตัวเองนิดนึงด้วยครับ ก็เลยทำงานพิเศษในร้านอาหารไทยควบคู่ไปกับทำโปรเจ็กต์อื่นๆ ไปด้วย ล่าสุดก็ทำฟรีแลนซ์ถ่ายวีดีโอรายการครับ

ชื่อรายการอะไรคะ?

คุณก้อง :
“ดูให้รู้” ครับ เพิ่งเริ่มเมื่อเดือนสองเดือนที่แล้วนี้เองครับ จริงๆ แล้วปกติจะมีทีมงานบินจากไทยมาถ่ายครับ แต่พอติดเรื่องโคโรน่าเลยทำให้ไม่สามารถเดินทางมาได้ ทางรายการเลยติดต่อมาให้ถ่ายแล้วส่งไฟล์ไปให้ครับ

ผลงานที่คุณก้องถ่ายไปแล้วมีอะไรบ้างเหรอคะ?

คุณก้อง :
ที่กำลังจะออนแอร์เร็วๆ นี้น่าจะเป็นเรื่องของจักรยานมือสองครับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนไทยที่รับจักรยานที่ถูกทิ้งที่ญี่ปุ่นไปขายเป็นมือสองที่ไทยครับ

ขอเปลี่ยนมาเข้าเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่นนะคะ อยากทราบว่าพอได้มาอยู่ญี่ปุ่นแล้วตรงกับที่เราคิดไว้ไหมคะ?

คุณก้อง :
จริงๆ ก็ค่อนข้างตรงนะครับ เพราะผมชอบดูหนังอยู่แล้ว แล้วบรรยากาศในหนังก็ค่อนข้างถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่โดยทั่วไปของคนญี่ปุ่นอยู่แล้ว แล้วพอเรามาอยู่จริงๆ มันก็ค่อนข้างตรงตามที่เราคาดหวังไว้นะครับ อย่างเช่น การเดินทาง บรรยากาศเมือง ผู้คน ร้านอาหาร อะไรแบบนี้ อาจจะมี culture shock บ้างอย่างเช่น เรื่องเวลา กับความซับซ้อนบางอย่างที่ไม่อาจเข้าใจได้

พอจะยกตัวอย่างได้ไหมคะ?

คุณก้อง :
อย่างเช่น การพูดการจาแบบนี้ อย่างคนไทยเวลาเราบอกความรู้สึกหรือสื่ออะไรออกไปเราก็จะหมายถึงอย่างนั้นจริงๆ ใช่ไหมครับ หรือเราก็จะพออ่านสีหน้ากับอารมณ์ได้ แต่คนญี่ปุ่นเวลาเราพูดอะไรไปแล้วเค้าแสดงความเห็นหรือเค้ารีแอคชันอะไรมานี้เราจะคาดเดาเค้าไม่ค่อยได้เท่าไหร่ครับ

อย่างที่เจอมาเป็นแบบไหนคะ?

คุณก้อง :
ตอนอยู่ในโรงเรียนผมก็เล่นเปียโนในห้องเรียนอยู่ เพื่อนก็เดินเข้ามาบอก “ก้องคุงนี่เล่นเปียนโนเก่งจังเลยนะ” ซึ่งถ้าเป็นคนไทยเราดูสีหน้าท่าทางก็จะดูออกใช่ไหมครับ แต่กับคนญี่ปุ่นนี่เราจะมีความสงสัยว่าเค้าแกล้งชมหรือว่าเค้าชมเราจริงๆ กันนะ เพราะน้ำเสียงเค้าก็จะธรรมดาแล้วสีหน้าก็จะเย็นๆ หน่อยครับ (หัวเราะ) อย่างเพื่อนคนจีนเค้าก็จะปรบมือพร้อมแสดงสีหน้า แต่คนญี่ปุ่นจะทำหน้านิ่งๆ อะไรแบบนี้ครับ (หัวเราะ) ก็เลยมีความงง
นอกจากนี้ในชีวิตประจำวันก็จะมีลักษณะแบบนี้เหมือนกันครับ อย่างเช่นเวลาทำเรื่องอะไรแล้วมีการรีแอคชั่นจากคนญี่ปุ่นมา แล้วเราจะไม่แน่ใจว่าเค้าตอบสนองด้วยความรู้สึกจริงๆ หรือไม่รู้ว่าความคิดเค้าเป็นอีกแบบกันแน่ เดาไม่ออก แล้วก็มีเรื่องระบบด้วยครับ อย่างเช่น ก่อนมาญี่ปุ่นเราคิดว่าระบบที่ญี่ปุ่นมันต้องก้าวหน้ามาก อะไรมันก็น่าจะสะดวกขึ้น ซึ่งมันก็สะดวกจริงๆ แหละ แต่มันก็ยังมีบางระบบที่รู้สึกว่ามันไม่ต้องซับซ้อนขนาดนั้นก็ได้นะ อย่างเช่นระบบราชการ ผมว่าบางอย่างมันก็ช้ากว่าบ้านเราด้วยซ้ำ ก็เลยรู้สึกย้อนแย้งในตัวมันเองอยู่เหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะว่าเค้าเป็นคนรักษาระบบธรรมเนียมประเพณีพอสมควรเหมือนกัน อย่างเช่น ระบบการทำงานที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงต่อให้เทคโนโลยีก้าวหน้าแค่ไหน ผมก็เลยรู้สึกตกใจเหมือนกันว่าในความก้าวหน้าก็ยังมีความอยู่กับที่ของเค้าอยู่เหมือนกันนะอะไรแบบนั้น
แต่ว่ามันก็สนุกดีได้เรียนรู้วัฒนธรรม พอเราอยู่ไปแล้วเริ่มชินมันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้นครับ เราก็ปรับตัวเอา กลับกันบางอย่างที่เราทำเค้าก็อาจจะตกใจนิดนึงว่าในประเทศเค้าไม่มี อย่างการกล้าต่อล้อต่อเถียงแสดงความคิดเห็นกับผู้ใหญ่แบบนี้ ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นที่เค้าเคยทำงานกับต่างชาติมาเค้าก็ยังพอเข้าใจ แต่ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นแท้ๆ เลยเค้าก็จะตกใจตรงนี้เหมือนกันครับ ว่าเราแสดงความเห็นที่ตรงไปตรงมาหรือว่าเถียงๆ หน่อยก็มีถ้าเราคิดว่าเราถูกต้องน่ะครับ

คุณก้องมาอยู่ญี่ปุ่นได้สี่ปีแล้ว มีความรู้สึกอย่างไรบ้างคะ รู้สึกต่างจากไทยบ้างไหมคะ?

คุณก้อง :
รู้สึกดีนะครับ ต่างจากไทยไหมก็ต่างนะครับ ด้วยความที่ผมเป็นฟรีแลนซ์ด้วยแหละครับเลยไม่ได้เจอชีวิตที่เร่งรีบของมนุษย์เงินเดือนเท่าไหร่ด้วยครับ เลยรู้สึกโอเค แล้วระบบสาธารณูปโภคของที่นี่ก็ดีด้วยครับ อย่างเช่นรถไฟ การคมนาคม การเดินทาง มันก็เลยไม่รู้ว่าเครียดในการเดินทางไปไหนมาไหน

แล้วต้องปรับตัวอะไรไหมคะในการมาอยู่ญี่ปุ่น?

คุณก้อง :
โชคดีที่ประเทศไทยมีวัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้าไปเยอะมาก อย่างอาหารญี่ปุ่นที่เรากินที่ไทยก็ไม่ต่างกันมาก ผมก็เลยไม่ต้องปรับตัวอะไรมากในเรื่องอาหารการกิน หรืออย่างถ้าเราอยากกินอาหารไทยที่นี่ก็มีให้กิน

มีอุปสรรคในการใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นบ้างไหมคะ?

คุณก้อง :
ช่วงแรกที่ยังพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ครับ แล้วก็ค่าครองชีพครับ ด้วยความที่ผมทำฟรีแลนซ์รับรายได้จากไทยเป็นหลักเพื่อมาใช้จ่ายที่ญี่ปุ่นก็ค่อนข้างหนักครับ คือถ้าจำนวนเงินเท่ากันนี้ใช้ชีวิตในไทยคือกินอยู่สบายแต่จำนวนเงินเท่ากันมาใช้จ่ายที่ญี่ปุ่นก็คือต้องกินอยู่ประหยัดหน่อย

สุดท้ายนี้ อยากให้คำแนะนำถึงน้องๆ หรือเพื่อนๆที่อยากมาเรียนที่ญี่ปุ่นหน่อยค่ะ

คุณก้อง :
ก็ถ้ามีจุดมุ่งหมายที่จะทำก็อยากให้ทำให้เต็มที่ครับ อย่างผมเองจุดมุ่งหมายคือการทำเพลงประกอบหนัง แล้วอยากเห็นชื่อตัวเองในโรงหนัง ซึ่งก็เลยตั้งเป้าว่าจะมาเรียนที่นี่แล้วกลับไปทำ แต่บังเอิญว่าด้วยความโชคดีที่ความฝันนี้ทำได้แล้วตั้งแต่เรียนอยู่ที่นี่ ก้าวต่อไปก็คือตั้งความฝันต่อ สำหรับน้องๆ ที่มีความฝันผมก็อยากให้เค้าตั้งใจเดินหน้า อย่าท้อถอยครับ แล้วก็ถ้ามาที่นี่ก็อยากให้เก็บเกี่ยวทุกสิ่งทุกอย่างไปให้หมดครับ เพราะว่าที่นี่เป็นประเทศที่มีความน่าสนใจหลายอย่างมากครับ ทั้งมีความหลากหลาย มีความเป็นเอกเทศของมันเองอยู่หลายๆ อย่าง แล้วก็วิชาความรู้ที่ได้มาก็เป็นความรู้ที่มันพิสูจน์ได้โดยสากลแล้วว่ามันได้ผล ผมก็เลยอยากให้น้องๆ ตั้งใจเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้ไปให้เยอะที่สุดครับ ผมคิดว่าต่อให้ไม่ได้อยู่ต่อแล้วกลับไปที่ไทยผมว่าประสบการณ์ตรงนี้ช่วยเราในการใช้ชีวิตได้อย่างแน่นอน

ประวัติผู้ให้สัมภาษณ์

คุณใจเทพ ร่าเริงใจ
อายุ 36 ปี
อาชีพ Freelance Music Composer, Videographer

จบการศึกษา:
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาภาพยนตร์ เอกการผลิตภาพยนตร์
Shobi College of Music คณะ: ดนตรีประกอบภาพเคลื่อนไหว

ผลงานหลักที่ผ่านมา:
ดนตรีประกอบ
ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น ซีซั่น 1
Stay ซากะฉันจะคิดถึงเธอ
น้ำตากามเทพ
U-Prince
Happy Birthday วันเกิดของนายวันตายของฉัน
WHO ARE YOU เธอคนนั้น คือ ฉันอีกคน
ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ

 


บทสัมภาษณ์คุณปอน ( WATCHARA KHOKAPUN )

Related post

  1. โตเกียวปี2020 กับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก…

  2. เบอร์โทรฉุกเฉินที่ควรรู้เมื่ออยู่ญี…

  3. แชร์ประสบการณ์แชร์เฮ้าส์โตเกียว

  4. เบอร์โทรศัพท์ญี่ปุ่นยังจำเป็นอยู่ไห…

  5. ความเชื่อเรื่องกรุ๊ปเลือดของคนญี่ปุ…

  6. การสมัครอินเตอร์เน็ตบ้านที่ญี่ปุ่น

  7. A Springtime Dream: Top 12 Sakura S…

  8. ขึ้นรถไฟญี่ปุ่นในชั่วโมงเร่งด่วนอย่…