ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองปัจจุบันทำให้หลายคนต้องใช้ชีวิตอยู่ในห้องพักที่มีพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร ความจริงแล้วในห้องขนาดไม่กว้างนี้ มีพื้นที่นึงที่หลายคนอาจมองข้ามไป นั่นก็คือส่วนพื้นที่ “ระเบียง” นั่นเอง หลาย ๆ คนอาจจะใช้พื้นที่นี้สำหรับตากเสื้อผ้าและไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกไปยังระเบียงบ่อยนัก แต่แท้จริงแล้วเราสามารถประยุกต์ระเบียงให้เป็นประโยชน์ได้มากกว่าเดิมด้วยการเนรมิตพื้นที่ระเบียงให้เป็นสวนผักสวย
การปลูกสวนผักริมระเบียง นอกจากจะได้ผักปลอดสารพิษไว้รับประทานเองแล้วยังช่วยให้ห้องดูร่มรื่น สดชื่นมากขึ้นอีกด้วยนะ แต่หลายคนอาจจะกังวลเพราะไม่เคยปลูกสวนริมระเบียงมาก่อน วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปดูเคล็ดลับและวิธีการปลูกสวนผักริมระเบียงแบบคนญี่ปุ่นที่มือใหม่ก็สามารถทำตามกันได้ง่าย ๆ ไปดูกันเลยค่ะ
อุปกรณ์สำหรับปลูกผัก
ก่อนเริ่มลงมือปลูก เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการปลูกผักที่ต้องเตรียมมีอะไรบ้าง?
- กระถางต้นไม้
กระถางที่วางขายทั่วไปมีอยู่หลายประเภท ทั้งชนิดที่เหมาะกับพืชที่รากเติบโตลงลึกหรือชนิดรากตื้นแต่แผ่กว้างออกในแนวนอน ดังนั้นจึงควรตัดสินใจว่าจะปลูกพืชชนิดใดก่อนจึงค่อยเลือกกระถางที่เหมาะสำหรับการเติบโตของพืชชนิดนั้น ขนาดที่แนะนำสำหรับการปลูกในระเบียงคือขนาดความกว้าง 25.5 เซนติเมตรและสูง 21.5 เซนติเมตร
นอกจากนี้การคำนึงด้านความสวยงามก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ กระถางที่นิยมอยู่ในญี่ปุ่นขณะนี้คือ กระถางแบบผ้า (不織布プランター) ดูแล้วญี่ปุ๊นญี่ปุ่นจริง ๆ เลยค่ะ
- ดินปลูก
“ดินดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” เพราะดินเปรียบเสมือนบ้านของเหล่าพืชผักที่เราจะปลูกนั่นเอง ฉะนั้นการพิถีพิถันเลือกดินที่เหมาะกับชนิดพืชที่จะปลูกจึงมีความสำคัญมาก ดินที่ดีนั้นจะต้องเป็นดินที่อุดมด้วยจุลินทรีย์และสำหรับพืชที่ต้องการปริมาณน้ำมาก การเลือกดินที่อุ้มน้ำก็เป็นสิ่งที่สำคัญ
สำหรับมือใหม่ปลูกผักสวนครัว มาดูกันดีกว่าว่าคุณสมบัติข้อไหนบ้างที่ควรให้ความสำคัญในการเลือกซื้อดิน
- คุณสมบัติถ่ายเทอากาศ
- คุณสมบัติระบายน้ำ
- สมดุลสารอาหารในดิน
- ชื่อบริษัทผู้ผลิต/แหล่งดินที่นำมาผลิต
- ฝักบัวรดน้ำ
จริงอยู่ว่าประเภทฝักบัวที่ใช้อาจไม่ได้มีผลต่อการเติบโตของพืชผักมากนัก แต่เมื่อซื้อฝักบัวมาหลายคนก็คงอยากได้สิ่งที่ดีที่สุดและใช้ไปนาน ๆ ใช่ไหมล่ะคะ ฉะนั้นพอยท์ที่ควรใส่ใจเวลาซื้อฝักบัวก็คือ “ฝัก” ที่น้ำไหลออกมานั่นเองค่ะ การเลือกฝักที่ปล่อยปริมาณน้ำออกมาอย่างพอดีและสม่ำเสมอก็จะช่วยให้รดน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมไม่ทำลายหน้าดินและเมล็ดพืชที่เราโปรยไว้อีกด้วยค่ะ
- ช้อนปลูก/พลั่ว
ทุกคนสงสัยกันไหมว่าเครื่องมือที่รูปร่างหน้าตาคล้ายช้อนกับส้อมบนโต๊ะอาหารใช้ปลูกผักสวนครัวยังไงกัน?
ช้อนปลูก: ใช้สำหรับใช้ขุดหลุมปลูก พรวนดิน และย้ายต้นกล้า ช่วยป้องกันไม่ให้ต้นกล้าช้ำอีกด้วย
ส้อมพรวน: ใช้พรวนดินให้ร่วนซุย เตรียมพร้อมดินสำหรับการลงเมล็ดพืช
- กรรไกรตัดกิ่ง
กรรไกรตัดกิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการปลูกผักสวนครัว ดังนั้นจึงควรซื้อกรรไกรสำหรับทำสวนโดยเฉพาะที่ใช้ได้ทั้งการเก็บเกี่ยวพืชผล กำจัดวัชพืชและตัดกิ่ง ใบที่แห้งออกไป
นอกจากนี้ อีกจุดที่ควรระวังในการใช้กรรไกรตัดกิ่งคือ “ความสะอาด” เพราะรอยตัดก็เหมือนปากแผลของต้นไม้ หากใช้กรรไกรที่สกปรกก็อาจจะทำให้พืชป่วยได้ ฉะนั้นจึงควรใช้กรรไกรตัดกิ่งเฉพาะและหมั่นรักษาความสะอาดเสมอ
ประเภทพืชพันธุ์
ต่อมาเรามารู้จักกันก่อนว่าพืชชนิดไหนบ้างที่เหมาะกับการปลูกในสวนริมระเบียงได้กันดีกว่าค่ะ
- ดอกไม้
- ต้นไม้ขนาดเล็ก
- สมุนไพร
- ผัก
ผักขนาดไม่ใหญ่ที่คนญี่ปุ่นนิยมปลูกในระเบียงมีดังนี้
กระถางขนาดมาตรฐาน | กระถางก้นลึก | |
ผักทานใบ | ผักโขม, กวางตุ้งญี่ปุ่น (โคมัทสึนะ), โพเธิร์บ มัสตาร์ด (มิซูนา), สวิสชาร์ด, พาสเลย์, ผักสลัด | บล็อกโคลี, หัวหอม, ผักกาด, ผักกาดขาว, ผักกาดแก้ว |
ผักทานหัว | แรดิช, แคตนิพ, บีทรูท, แครอตจิ๋ว | หัวไชเท้า, มันฝรั่ง, มันเทศ |
ผักทานผล | สตรอเบอรี่, ถั่วลันเตา, ถั่วแขก | มะเขือเทศ, มะเขือเทศราชินี, มะเขือม่วง, แตงกวา, พริกหยวก, พริก, แตงโม, เมล่อน, ถั่วแระ, มะระ |
สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับพืชพันธุ์มากนักอาจจะยังนึกภาพไม่ออก จึงขอแนะนำผักและสมุนไพรที่คนญี่ปุ่นนิยมปลูก 4 ชนิดที่โตง่ายและไม่ค่อยมีปัญหาแมลงมาคอยกวนใจ
- Radish
แรดิช เป็นพืชกลุ่มกะหล่ำ ลักษณะกลมหรือรูปไข่ ผิวสีแดง เนื้อในสีขาว มีกลิ่นฉุนเล็กน้อย เป็นพืชที่ใช้ระยะเวลาโตไม่นาน แนะนำสำหรับคนที่ต้องการพืชที่ให้ผลเร็ว เก็บเกี่ยวในระยะสั้น สามารถรับประทานสดกับผักสลัดชนิดอื่นหรือต้มกับน้ำซุปก็จะได้รสชาติที่กลมกล่อม
- Swiss chard
สวิสชาร์ด หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับผักชนิดนี้ แต่ผักชนิดนี้มีประโยชน์มากจนได้รับการจัดอันดับให้เป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุดอันดับที่ 4 ของโลกโดย USDA National Nutrient Database เลยล่ะ แถมยังให้สีสันสดสวยช่วยให้สวนผักของเราดูสดใสขึ้นได้อีกด้วย
- Italian parsley
อิตาเลียนพาสเลย์ หรือผักชีสัญชาติฝรั่ง ไม่เพียงแต่ปลูกง่ายเหมาะสำหรับมือใหม่เท่านั้นแต่ยังปลูกได้ในระยะยาว ทำให้สามารถสนุกกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี นอกจากเป็นสมุนไพรที่โรยเพื่อเพิ่มความหอมอร่อยให้กับทุกเมนูอาหาร ยังสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นไก่ทอดพาสเลย์หรือหมูผัดกระเทียมพาสเลย์ก็น่าทานไม่น้อย
- Nasturtium
แนสเตอร์ชัม ชื่อของพืชชนิดนี้มีความหมายว่า กลิ่นเตะจมูก เนื่องจากดอกของพืชชนิดนี้มีกลิ่นหอมอบอวลเตะจมูกหลายคนที่เดินผ่าน จุดเด่นที่อยากแนะนำให้ทุกคนปลูกพืชชนิดนี้เพราะนอกจากจะเป็นพืชดอกประดับระเบียงได้สวยงามแล้ว ทั้งดอก ใบและก้านของมันยังนำมาประกอบอาหารได้อีกด้วย! โดยนิยมทานเป็นผักสลัดหรือประดับจานอาหารเพื่อความสวยงาม ดอกจะมีรสเผ็ดและกลิ่นหอมคล้ายดอกวอเตอร์เครส
ขั้นตอนการปลูก
เมื่อซื้ออุปกรณ์และเมล็ดพืชที่ต้องการจะปลูกพร้อมแล้ว ก็ลงมือปลูกกันได้เลย! การปลูกผักลงกระถางมีขั้นตอนง่าย ๆ 6 ขั้นตอน ดังนี้
- รองก้นกระถางด้วยหินมวลเบาแล้วเทดินปลูกที่ผสมปุ๋ยแล้วตามลงไปให้สูงประมาณ 8 ส่วน 10ของกระถาง
- เกลี่ยหน้าดินให้เรียบเสมอกันแล้วกดลงไปเบา ๆ
3.ใช้ฝักบัวรดน้ำรดน้ำลงไปในดินเพื่อเพิ่มความชื้น สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการแตกรากของพืช
4.หว่านเมล็ดพืชลงไปบนดิน โดยต้องคำนึงถึงลักษณะการเติบโตของพืชที่หว่านลงไปและวิธีการเก็บเกี่ยว
วิธีการหว่านเมล็ดมีทั้งหมด 3 วิธี ได้แก่
- หว่านแบบกระจาย
เหมาะสำหรับเมล็ดพันธุ์ที่มีขนาดเล็กและเบา รวมไปถึงผักที่เก็บเกี่ยวโดยการดึงออกทั้งราก เช่น ผักร็อกเก็ต ผักโขม แครอตจิ๋ว
- หว่านแบบตามร่อง
วิธีการหว่านเพียงแค่ใช้ตะเกียบขีดตามความยาวกระถาง ให้ความลึกประมาณ 1 เซนติเมตร หลังจากนั้นจึงหว่านเมล็ดกระจายลงไปในร่องไม่ให้เมล็ดซ้อนทับกัน เหมาะสำหรับผักชนิดรากและกรณีที่ต้องการใช้ปุ๋ยชนิดเมล็ดหว่านภายหลัง เช่น แครอต ผักโขม กวางตุ้งญี่ปุ่น (โคมัทสึนะ) โพเธิร์บ มัสตาร์ด (มิซูนา)
- หว่านแบบเป็นหย่อม
ใช้ก้นกระป๋องหรือขวดกดลงไปเบา ๆ บนหน้าดินให้ได้หลุมความลึกประมาณ 1 เซนติเมตร จากนั้นจึงหว่านเมล็ดลงไปหลุมละประมาณ 3-4 เมล็ด เหมาะสำหรับพืชหัวที่มีรากหรือลำต้นใต้ดินและต้องการหว่านพืชหลายแห่ง เช่น หัวไชเท้า เทอร์นิพ แรดิช
- กลบดินลงบนเมล็ดพืชบาง ๆ พอไม่ให้เห็นเมล็ด
- ใช้ฝักบัวรดน้ำลงไปบนดินอีกครั้งให้เมล็ดฝังลงไปในดินมากขึ้น แต่ระวังอย่ารดนานเกินไปและอย่าใช้น้ำแรงในการรดเพราะจะทำให้เมล็ดที่หว่านลงไปลอยขึ้นมาและกระจัดกระจายไปทั่ว
การปลูกผักสวนครัวริมระเบียงไม่ยากอย่างที่คิดใช่ไหมคะ การจัดสวนระเบียงช่วยตอบโจทย์ใครหลาย ๆ คนที่อาศัยอยู่ในคอนโดแต่อยากมีสวนผักเป็นของตัวเอง นอกจากจะปลูกผักไว้ริมระเบียงแล้ว การวางโต๊ะ เก้าอี้เข้าไป เพื่อเนรมิตพื้นที่ระเบียงไว้พักผ่อนหย่อนใจยามว่าง เปลี่ยนบรรยากาศจากห้องอุดอู้ ออกมาอ่านหนังสือ จิบกาแฟยามเช้าก็เป็นไอเดียที่ดีไม่น้อย ขอให้ทุกคนสนุกกับการปลูกผักสวนครัวริมระเบียงนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://lovegreen.net/homegarden/p195473/
https://www.yanmar.com/jp/agri/agrilife/kitchen_garden/veranda/start/