fbpx

กฎ 5 ข้อที่ต้องปฏิบัติตามเมื่อขี่จักรยานที่ญี่ปุ่น!

แม้ว่าคนที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นมักจะเดินทางด้วยการเดินและรถไฟเป็นส่วนใหญ่ แต่เชื่อว่ามีอีกหลายท่านที่มีความจำเป็นจะต้องใช้จักรยานในการเดินทางด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นมาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าการขี่จักรยานที่ญี่ปุ่นนั้น มีกฎอะไรบ้างที่ต้องปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด

 

[1] ขี่จักรยานบนทางสัญจร ไม่ใช่บนทางเท้า

แท้จริงแล้วตามกฎหมายจราจร จักรยานได้ถูกจัดอยู่ในประเภทของ “ยานพาหนะ” เพราะฉะนั้นจะต้องขี่จักรยานเลียบทางบริเวณพื้นที่ที่อยู่ระหว่างทางเท้าและถนน

• สามารถขี่จักรยานบนทางเท้าได้หรือไม่?
มีข้อยกเว้นให้สามารถขี่จักรยานบนทางเท้าได้ในกรณีดังต่อไปนี้

1) ในพื้นที่ที่มีป้ายหรือสัญญาณจราจรกำหนดไว้
2) เมื่อผู้ขี่จักรยานเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี หรือคนชราที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้พิการ
3) สามารถขี่ได้ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากสภาพการจราจรบนท้องถนนได้

[2] ขี่จักรยานทางด้านซ้ายของถนน

• ห้ามขี่จักรยานทางด้านขวาของถนน
จักรยานจะต้องขี่ทางด้านซ้ายของถนนเท่านั้น เพราะถ้าหากขี่จักรยานทางขวามือของถนน อาจจะก่อให้เกิดอันตรายจากรถที่สวนมาทางซ้ายมือได้
[บทลงโทษ] กรณีฝ่าฝืนกฎ มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 50000 เยน

[3] ให้ทางแก่คนเดินและชะลอการขี่บนพื้นที่สำหรับทางเท้า

เมื่อพื้นที่สำหรับขี่จักรยานถูกจำกัดให้อยู่บนบริเวณทางเท้า ให้คำนึงถึงผู้ที่เดินก่อนโดยการขี่อย่างช้าๆ และกรณีที่ขวางทางสัญจรผู้ที่เดินเท้าอยู่นั้น จะต้องหยุดขี่ก่อนชั่วคราว
นอกจากนี้การกดกริ่งจักรยานเพื่อขอทางคนที่เดินอยู่ หรือไม่ชะลอการขี่ให้ช้าลงถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎอีกด้วย
[บทลงโทษ] กรณีฝ่าฝืนกฎ ปรับสูงสุดไม่เกิน 20000 เยน

* สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี สามารถขี่จักรยานบนทางเท้าได้ แต่ถึงอย่างไรแล้วก็ต้องให้ทางแก่ผู้ที่เดินก่อนเป็นอันดับแรก

[4] รักษากฎระเบียบความปลอดภัย

• เปิดไฟเวลากลางคืน
เมื่อต้องขี่จักรยานในเวลากลางคืน จะต้องเปิดไฟจักรยานเอาไว้ การเปิดไฟไม่เพียงแต่ทำให้มองเห็นทางได้ง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้รถหรือมอเตอร์ไซค์สามารถสังเกตเห็นเราได้อีกด้วย
[บทลงโทษ] กรณีฝ่าฝืนกฎ ปรับสูงสุดไม่เกิน 50000 เยน


• ไม่ขี่จักรยานเมื่อมีอาการเมา
ห้ามขี่จักรยานเมื่อดื่มแอลกอฮอลล์ อีกทั้ง จะต้องไม่สนับสนุนให้ผู้ที่จะต้องขี่จักรยานดื่มแอลกอฮอลล์อีกด้วย
[บทลงโทษ] กรณีฝ่าฝืนกฎ มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปี หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 1000000 เยน (ในกรณีที่เมาแล้วขับ ฯลฯ)


• ห้ามซ้อนท้ายจักรยาน
โดยปกติแล้วจักรยานนั้นเป็นยานพาหนะสำหรับขี่ 1 คน จึงห้ามนั่งซ้อน 2 คน ยกเว้นกรณีที่นั่งสำหรับเด็กเล็ก (Child Seat) เท่านั้น
[บทลงโทษ] กรณีฝ่าฝืนกฎ ปรับสูงสุดไม่เกิน 50000 เยน


• ห้ามขี่จักรยานตีคู่ขนานกัน
จะต้องขี่จักรยานเรียงหนึ่งยกเว้นในกรณีพื้นที่ที่มีป้ายหรือสัญลักษณ์ 「並進可」 จึงจะสามารถขี่คู่ขนานกันได้ เนื่องจากหากขี่จักรยานตีคู่กันบนท้องถนน จักรยานคันที่อยู่ฝั่งใกล้ถนนอาจจะเกิดอันตรายได้ หรืออาจจะเป็นการกีดขวางการจราจรได้
[บทลงโทษ] กรณีฝ่าฝืนกฎ ปรับสูงสุดไม่เกิน 20000 เยน


• ปฎิบัติตามสัญญาณไฟจราจร
ในกรณีที่มีสัญญาณไฟจราจรสำหรับทางเท้าและจักรยาน ควรปฎิบัติตามสัญญาณไฟจราจรเพื่อความปลอดภัย
[บทลงโทษ] กรณีฝ่าฝืนกฎ มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 50000 เยน


• หยุดดูทางเมื่ออยู่บริเวณทางแยกอย่างระมัดระวัง
เมื่อเจอป้ายหยุด 「止まれ」 บริเวณทางแยกให้หยุดเพื่อสำรวจทางก่อน หรือแม้จะไม่มีป้ายดังกล่าวก็ต้องชะลอการขี่ให้ช้าลง มองทางด้านซ้ายและขวาอย่างระมัดระวังเพื่อความปลอดภัย
[บทลงโทษ] กรณีฝ่าฝืนกฎ มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 50000 เยน

[5] เด็กจำเป็นจะต้องสวมหมวกกันน็อค

• ประมาณ 30% ที่เด็กเล็กได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะระหว่างที่ขี่จักรยาน
กรณีที่มีเด็กซ้อนท้ายจักรยานมาด้วยแล้วเกิดอุบัติเหตุนั้นก่อให้เกิดอันตรายที่ศีรษะได้ หมวกกันน็อคจะช่วยป้องกันการกระทบในส่วนนั้นได้
สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี ผู้ปกครองจะต้องให้เด็กสวมใส่หมวกกันน็อคเมื่อนั่งอยู่บนที่นั่งสำหรับเด็ก

นี่คือกฎเบื้องต้นสำหรับการขี่จักรยานในประเทศญี่ปุ่น หากใครมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางด้วยจักรยาน อย่าลืมปฎิบัติตามกันอย่างเคร่งครัดด้วยนะคะ

ที่มา : https://www.gov-online.go.jp/featured/201105/index.html

Related post

  1. จัดบ้านแบบง่ายๆ ด้วย 5 ไอเท็มแนะนำร…

  2. เตรียมถุงยังชีพ พร้อมรับมือแผ่นดินไ…

  3. วิธีเตรียมตัวสำหรับคนที่จะไปญี่ปุ่น

    New ญี่ปุ่นรออยู่! เตรียมตัวให้พร้อ…

  4. ช้อปออนไลน์เว็บญี่ปุ่นส่งท้ายปี ไม่…

  5. สตาร์บัคภาษามือ สาขาแรกในญี่ปุ่น

  6. 7 สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อทิ้งขยะที่ญี่…

  7. faq about health insurance

    ประกันสุขภาพญี่ปุ่นควรทำไว้หรือไม่?…

  8. กิจกรรมตอบแทนสังคม