บทความนี้ได้รวบรวมสิ่งที่ต้องทำก่อนลงมือทำความสะอาด และกฎพื้นฐานในการทำความสะอาดห้องจากประสบการณ์แม่บ้านญี่ปุ่นมาให้ได้อ่าน จะเป็นอย่างไรบ้าง ตามมาดูกันได้เลย
4 สิ่งที่ต้องทำก่อนลงมือทำความสะอาดห้อง
1. กำหนดขอบเขตพื้นที่ทำความสะอาด
หากต้องการทำความสะอาดนู่นนี่ไปทั่วในครั้งเดียวอาจใช้เวลามาก ตกดึกแล้วงานบ้านก็ยังทำไม่เสร็จ ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าและเลิกทำความสะอาดไปเสียดื้อๆ ดังนั้นเรามาแบ่งพื้นที่ที่ควรทำความสะอาดทุกวัน ทำอาทิตย์ละครั้งและทำเดือนละครั้งกันก่อน หลังจากนั้นจึงแบ่งเวลาเล็กน้อยในแต่ละวันค่อยๆ ทำความสะอาดไปทีละส่วน เมื่อทำจนเคยชินแล้วก็จะกลายเป็นนิสัยติดตัวไปในระยะยาว
2. รีบทำความสะอาดก่อนที่จะกลายเป็นคราบ
พื้นที่ในบ้านหลายที่เมื่อปล่อยให้ฝุ่นจับนานๆ เข้าก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นคราบฝังแน่นทำความสะอาดยาก ดังนั้นจึงควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำไม่ให้มีฝุ่นสะสมตามเครื่องเรือนได้ อีกจุดหนึ่งที่สำคัญก็คือการทำความเข้าใจประเภทและสภาพของสิ่งสกปรกเพื่อที่จะเลือกวิธีและอุปกรณ์ทำความสะอาดที่สามารถกำจัดคราบสกปรกได้อย่างเหมาะสม
3. อย่าลืมเช็คประเภทวัสดุของสิ่งที่จะทำความสะอาดก่อนเริ่มลงมือ
ในบ้านหลังหนึ่งย่อมประกอบไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจากวัสดุหลากหลายชนิด แม้แต่พื้นเองก็มีหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นพื้นไม้ลามิเนต พื้นกระเบื้อง พื้นพรม ดังนั้นไม่ใช่ว่าพื้นทุกประเภทจะสามารถใช้แปรงขัดเพื่อทำความสะอาดได้ เพราะจะทำให้พื้นเสียหายยิ่งกว่าเดิม เช่น เกิดรอยถลอกหรือสีลอก ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเหล่านี้ทุกคนควรเช็คให้แน่ใจก่อนว่าวัสดุแต่ละประเภทควรใช้วิธีการทำความสะอาดแบบไหน
4. มารู้จักคุณสมบัติพิเศษของอุปกรณ์ทำความสะอาดแต่ละชิ้น และใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการแปลงโฉมบ้านให้สะอาดเอี่ยมอ่องก็คือน้ำยาและอุปกรณ์ทำความสะอาดนั่นเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดในการกำจัดสิ่งสกปรกในบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดนั่นก็คือ การรู้จักลักษณะเด่นและวิธีการใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างถูกต้อง เช่น ต้องใช้อุปกรณ์ประเภทใด ใช้เวลาเท่าไหร่ในการทำความสะอาดสิ่งสกปรกประเภทนี้ หากลังเลว่าควรใช้น้ำยาหรืออุปกรณ์ชนิดไหนดี ก็ควรเลือกใช้น้ำยาที่มีฤทธิ์ไม่แรงมาก และค่อยๆสังเกตปฏิกิริยาระหว่างที่ทำความสะอาดไปพลางแล้วจึงค่อยเพิ่มปริมาณการใช้
5 กฎพื้นฐานในการทำความสะอาดห้อง
1. เริ่มทำความสะอาด “จากบนลงล่าง”
สาเหตุที่ควรเริ่มจากบนลงล่าง เพราะฝุ่นที่เกาะตามเฟอร์นิเจอร์จะหล่นลงมาตามแรงโน้มถ่วงลงสู่พื้น ถ้าเริ่มถูพื้นก่อนค่อยปัดฝุ่นพื้นก็จะกลับมาสกปรกอีกเพราะฝุ่นที่ตกลงมา ทำให้ต้องทำความสะอาดพื้นใหม่อย่างไม่จบไม่สิ้น ฉะนั้นถ้าไม่อยากเปลืองแรงเปล่าๆ เวลาทำความสะอาดก็ท่องเอาไว้เลยว่า “จากบนลงล่าง”
2. เพิ่มประสิทธิภาพความสะอาดด้วยการถูพื้น “จากส่วนลึกที่สุด”
ถ้าไม่อยากทำความสะอาดซ้ำซ้อน อีกข้อที่ควรจำให้ขึ้นใจคือ “เริ่มจากส่วนลึกที่สุด” กล่าวคือเราควรถูพื้นโดยเริ่มตั้งแต่ส่วนลึกสุดของห้องออกมายังทางเข้าห้อง เพราะจะช่วยให้หลีกเลี่ยงการเหยียบลงบนพื้นที่ทำความสะอาดไปแล้วได้ รวมถึงตอนเคลือบแว็กซ์พื้นก็เช่นกัน หากเผลอแว็กซ์จากทางเข้าก่อนล่ะก็ จะขยับไปไหนไม่ได้จนกว่าแว็กซ์จะแห้งเลยล่ะ
3. ฉีดสเปรย์ลงบนฟองน้ำก่อน
รู้หรือไม่ว่าเราไม่ควรฉีดสเปรย์ลงบนคราบสกปรกโดยตรงแต่ควรฉีดลงบนฟองน้ำหรือผ้าขี้ริ้วก่อน เนื่องจากน้ำยาบางประเภทอาจก่อความเสียหายให้กับตัววัสดุได้ ดังนั้นการสเปรย์ลงบนฟองน้ำบางๆ แล้วลองเช็ดเพื่อเช็คก่อนก็เป็นสิ่งสำคัญ
4. สเปรย์และถู “จากล่างขึ้นบน”
เมื่อเช็คเรียบร้อยแล้วว่าน้ำยาไม่ทำให้ตัววัสดุเป็นรอยก็สามารถทาลงบนวัสดุโดยตรงได้เลย โดยเริ่มทาตั้งแต่ด้านล่างขึ้นไปด้านบน เช่นเดียวกันกับการถู เนื่องจากถ้าเริ่มจากด้านบนก่อนแล้วมีโอกาสที่น้ำยาไหลย้อยลงมาและทำความสะอาดได้ไม่หมด
5. ทำความสะอาดจาก “ส่วนที่สกปรกมากไปยังส่วนที่สกปรกน้อย”
การที่จะรู้ได้ว่าวัสดุแต่ละชนิดไม่ควรใช้กับน้ำยาประเภทใดนั้นเป็นเรื่องยากเว้นแต่คุณจะเป็นมืออาชีพ ดังนั้นก่อนอื่นให้ใช้น้ำยาอ่อนๆ เพื่อขจัดคราบสกปรก ถ้าคราบสกปรกยังไม่หายไปให้ลองใช้น้ำยาที่แรงกว่าเล็กน้อย ด้วยวิธีนี้คุณสามารถป้องกันความเสียหายต่อพื้นผิววัสดุได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.duskin.jp/jiten/