สตาร์บัคเป็นร้านกาแฟที่มีสาขาไปทั่วโลกและมีความนิยมในคนทุกเพศทุกวัย มีแคมเปญออกใหม่เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นหลอดกระดาษเพื่อลดขยะพลาสติก หรือ Reuse one to go คือ การนำแก้วที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น
เมื่อปลายเดือนมิถุนาที่ผ่านมา สตาร์บัคญี่ปุ่นได้เปิดสาขาใหม่ที่ Kunitachi โตเกียว เป็นสาขาที่ใช้ภาษามือแทนการสื่อสารเพื่อลูกค้าที่บกพร่องทางการได้ยิน โดยแนวคิดนี้เริ่มจากพนักงานของสตาร์บัคที่เป็นผู้บกพร่องทางการได้ยินต้องการที่จะเปิดร้านสำหรับพวกเขา และให้ทุกคนที่ไม่ว่าจะบกพร่องหรือไม่บกพร่องทางการได้ยินสามารถมีความสุขกับรสชาติกาแฟของสตาร์บัคได้ ซึ่งสาขานี้มีพนักงาน 25 คน ในจำนวนนี้ 19 คนเป็นพนักงานที่บกพร่องทางการได้ยิน นอกจากการใช้ภาษามือแล้ว ยังมีTablet ไว้สำหรับสั่งอาหารและเครื่องดื่มด้วย ในอนาคตสตาร์บัคญี่ปุ่นมีแผนที่จะเปิดสาขาเพื่อผู้บกพร่องทางการได้ยินทั่วประเทศ
สตาบัคสาขาที่รับรองผู้บกพร่องทางการได้ยินนี้มีเปิดแล้วทั้งหมด 4 สาขาทั่วโลก คือมาเลเซีย 2 สาขา สหรัฐอเมริกา 1 สาขา และ จีน 1 สาขา สาเหตุที่สตาร์บัคญี่ปุ่นไม่เลือกเปิดสาขาในตัวเมืองแต่เปิดในเมืองที่ห่างออกมา เพราะมีความเห็นตรงกันเรื่องความสำคัญของการพัฒนาเมืองเพื่อให้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อีกทั้งยังใกล้กับที่ตั้งของโรงเรียน Tachikawa School for the Deaf (โรงเรียนสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน) จึงเลือกที่จะเปิดสาขาที่เมืองนี้
ก่อนจะเปิดสาขานี้ได้มีการสำรวจแนวโน้มของผู้ที่จะมาใช้บริการจึงจัดกิจกรรม “signing activity” ทั้งหมด 7 ครั้ง ซึ่งโฟกัสไปที่ผู้บกพร่องทางการได้ยินเป็นหลัก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ประกาศกิจกรรมอย่างเป็นทางการแต่ได้ดีรับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บกพร่องทางการได้ยินที่รู้จักกิจกรรมผ่านทางTwitter
ในการบริการนั้นเพื่อความสะดวกในการสื่อสารพนักงานจะสวมหน้ากากโปร่งใสที่ช่วยให้สามารถอ่านการเคลื่อนไหวของปากได้ง่าย การรับสินค้าจะมีทั้งการนำทางด้วยภาษามือและที่บริเวณเคาเตอร์จะมีป้ายดิจิตอล (ป้ายอิเล็กทรอนิกส์) ติดตั้งไว้ ซึ่งจะแสดงหมายเลขที่พิมพ์บนใบเสร็จ
นอกจากนี้ที่นี่ยังมีป้ายรูปภาพภาษามือของจิตรกรญี่ปุ่นที่เรียกว่า「Talkative hands(おしゃべりな手)」ซึ่งเป็นภาพวาดสีสันสวยงามที่สอนว่าแต่ละคำใช้ภาษามืออย่างไร เช่น คำว่า นม ลาเต้ คาปูชิโน่ เป็นต้น โดยภาพวาดเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของสตาบัคสาขานี้ เมื่อคนเห็นสามารถรู้ได้ทันทีว่าเป็นสาขาที่ทำขึ้นเพื่อผู้บกพร่องทางการได้ยินโดยเฉพาะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.sustainablebrands.jp/news/jp/detail/1197181_1501.html