หลังจากที่หลายท่านได้ห้องเช่าในญี่ปุ่นตามต้องการแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนการเซ็นสัญญาเช่าห้องพัก แน่นอนว่าการทำสัญญาของที่ญี่ปุ่นมีกฎระเบียบและข้อกำหนดในการอาศัยในห้องพักหลายประการ และหากว่าเราเข้าใจไม่ถี่ถ้วน อาจจะทำให้เราไม่ทันได้ระมัดระวังระหว่างเข้าอยู่จนทำให้โดนปรับตอนย้ายออกได้เลยทีเดียว!? วันนี้เราเลยจะมาอธิบายถึง ข้อกำหนดเกี่ยว「原状回復」หรือที่ออกเสียงว่า “Genjoukaifuku” จะเป็นอะไรนั้น ตามไปชมกันเลย
「原状回復」 หรือ ค่าใช้จ่ายในการทำให้ห้องกลับคืนสภาพตามเดิม
ค่าใช้จ่ายในการทำให้ห้องกลับคืนสภาพตามเดิม หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ทางเจ้าของจะเรียกเก็บจากตัวผู้เช่า ในกรณีที่เกิดจุดที่มีความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องพังเสียหาย ไม่สามารถใช้การได้สมบูรณ์ หรือมีรอย/คราบเปื้อนที่สกปรกจนไม่สามารถทำความสะอาดออกไปได้ และความเสียหายนั้นส่งผลให้มูลค่าของห้องลดลงตามไปด้วย
ข้อกำหนด「原状回復」มีไว้เพื่ออะไร
- เพื่อให้ทั้งผู้เช่าและเจ้าของห้องเข้าใจตรงกันว่า กรณีใดบ้างที่ต่างฝ่ายต่างต้องรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตตอนที่ผู้เช่าย้ายออก
- เพื่อให้ผู้เช่าตะหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาห้องพักให้เหมือนเป็นทรัพย์สินของตนเอง
ค่าใช้จ่ายในส่วนของ「原状回復」เราจะรู้ได้เมื่อไหร่?
คำตอบคือ ต้องชำระตอนที่จะคืนห้องให้กับทางผู้ดูแล โดยจะมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลห้องเข้ามาทำการตรวจห้อง และประเมินจุดที่เสียหายรวมทั้งมูลค่าความเสียหายหรือมูลค่าค่าซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยราคาและหลักการคำนวณในแต่ละจุด ของแต่ละบริษัทที่ดูแลห้องก็จะต่างกันออกไป จึงแนะนำให้ทำความเข้าใจตั้งแต่ก่อนเซ็นสัญญาเช่าเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน
ถ้าเกิดความเสียหาย ต้องชำระ「原状回復」อย่างไร?
ในกรณีที่มีการชำระค่ามัดจำไว้ตั้งแต่ตอนทำสัญญาแล้ว บริษัทที่ดูแลห้องจะหักค่าใช้จ่ายในการทำให้ห้องกลับคืนสภาพตามเดิมจากค่ามัดจำที่ท่านได้ชำระไปแล้ว แต่อาจมีบางกรณีที่ค่าความเสียหายมากเกินจากเงินค่ามัดจำได้ ดังนั้นอาจจะถูกเรียกเก็บเงินในส่วนนี้เพิ่มเติมได้เช่นกัน แต่สำหรับท่านที่ไม่ได้มีการชำระค่ามัดจำไว้ จำเป็นจะต้องเตรียมเงินสดไว้เผื่อกรณีที่ต้องชำระ ณ จุดนั้นหรือบางกรณีทางบริษัทที่ดูแลห้องอาจจะส่งใบเรียกเก็บเงินตามมาให้ชำระก็เป็นได้
กรณีไหนถึงจะโดนเรียกเก็บ ?
บางท่านอาจจะเริ่มกังวลว่า ” ถ้าเป็นรอยเล็กๆ จะโดนเรียกเก็บเงินหรือไม่ ” ต้องอธิบายว่า การประเมินอาจจะแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปแล้วที่ญี่ปุ่นจะแบ่งเป็น 2 กรณี
- กรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นเอง จากความเสื่อมสภาพจากการใช้งานตามปกติ เช่น มีรอยดำที่มาจากไอความร้อนของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่วางชิดผนัง หรือ แสงแดดส่องลงบนกำแพงทุกวันจนทำให้วอลเปเปอร์สีไม่เท่ากัน เป็นต้น กรณีถือว่า เจ้าของห้อง/ผู้ให้เช่าจะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายเอง
- กรณีที่เกิดความเสียหายจากความประมาท หรือการกระทำที่จงใจของผู้เช่าเอง เช่น เปิดหน้าต่างทิ้งไว้ ฝนตกลงมาแรงและสาดเข้ามาให้ห้อง ทำให้พื้นที่ปูไว้นูนขึ้นมา หรือพื้นเปิดออกมา หรือที่มักจะพบและเป็นปัญหาบ่อยอีกกรณีคือ การสูบบุหรี่ในห้อง เพราะกลิ่นบุหรี่ติดในห้องได้ง่าย ถ้าสูบในห้องแม้เพียงครั้งเดียวและมีกลิ่นติดอยู่ ก็อาจจะทำให้โดนเรียกเก็บค่าเปลี่ยนวอลเปเปอร์ที่มีกลิ่นติดและค่ากำจัดกลิ่นได้
รู้แบบนี้แล้ว น้องผักชีขอแนะนำให้ทุกคนทำความเข้าใจกับเนื้อหาสัญญาให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทั้งในระหว่างและหลังเข้าพักได้ สำหรับลูกค้าของ LandHousing อุ่นใจได้เลย เพราะเรามีเจ้าหน้าที่คนไทยคอยซัพพอร์ตและช่วยแปลสัญญาต่างๆ ให้เข้าใจก่อนเซ็นสัญญาอีกด้วย เพราะเราพร้อมช่วยให้การใช้ชีวิตในญี่ปุ่นของทุกคนราบรื่นที่สุด