ชาวต่างชาติหลายท่านรวมถึงลูกค้าชาวไทยหลายท่านอาจสงสัยว่า ทำไมถึงจำเป็นจะต้องให้ข้อมูล “ผู้ติดต่อฉุกเฉิน” ด้วย? หรืออาจจะยังไม่รู้ว่า ในใบกรอกข้อมูลเพื่อยื่นขอจองห้องเช่านั้น จะมีส่วนที่ต้องเติมข้อมูลของ “ผู้ติดต่อฉุกเฉิน” หลายคนก็อาจยังสงสัยว่าเราจะต้องกรอกข้อมูลอะไรลงไปดี วันนี้เราจะมาอธิบายหน้าที่และความสำคัญของ “ผู้ติดต่อฉุกเฉิน” กัน
“ผู้ติดต่อฉุกเฉิน” คืออะไร
“ผู้ติดต่อฉุกเฉิน” หมายถึง บุคคลที่จะได้รับการติดต่อไป ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อเจ้าตัวได้ โดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉิน หรือเกิดเหตุอะไรขึ้นมาในระหว่างการเช่าห้อง แต่ก่อนมักจะมีปัญหาเรื่องการติดต่อสื่อสารต่างๆ แต่ในปัจจุบันที่การสื่อสารได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก ทำให้ส่วนใหญ่บริษัทที่ดูแลห้องก็จะติดต่อกับผู้เช่าโดยตรงได้โดยไม่ต้องรบกวนผู้ติดต่อฉุกเฉิน
หยุดเข้าใจผิด! “ผู้ติดต่อฉุกเฉิน” ไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน
“ผู้ค้ำประกัน” จะหมายถึงบุคคลที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการชำระหนี้หรือค่าเช่าที่ค้างชำระ กรณีที่ผู้เช่าไม่สามารถชำระค่าเช่าได้ ซึ่งปัจจุบันในญี่ปุ่นนิยมใช้บริการบริษัทค้ำประกันแทนการให้บุคคลมาเซ็นค้ำประกันให้เหมือนอดีต แต่อาจมีบางห้องที่เจ้าของยังคงบังคับให้มีผู้ค้ำเช่นกัน
ดังนั้น “ผู้ค้ำประกัน” กับ “ผู้ติดต่อฉุกเฉิน” จึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต่างกัน “ผู้ติดต่อฉุกเฉิน”นั้นจะไม่มีหน้าที่หรือความรับผิดชอบในการชดใช้หนี้หรือค่าใช้จ่ายที่ค้างชำระแต่อย่างใด รวมทั้งเจ้าของและบริษัทที่ดูแลห้องไม่มีสิทธิ์ในการทวงหนี้จากผู้ติดต่อฉุกเฉินเช่นกัน และแม้แต่กรณีที่ผู้ติดต่อฉุกเฉินได้รับการติดต่อจากบริษัทค้ำประกันเพื่อสอบถามถึงผู้เช่ากรณีที่มีหนี้ที่ค้างชำระ ผู้ติดต่อฉุกเฉินก็ไม่มีหน้าที่ในการชดใช้หนี้แต่อย่างใด
กล่าวง่ายๆ แล้ว “ผู้ติดต่อฉุกเฉิน” เป็นเพียงผู้ที่บริษัทค้ำประกัน/บริษัทดูแลห้อง/เจ้าของจะติดต่อไปในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อผู้เช่าได้เท่านั้น
แล้วเขาจะติดต่อผู้ติดต่อฉุกเฉินเมื่อใดบ้าง?
ถึงจะเรียนว่า “ผู้ติดต่อฉุกเฉิน” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะติดต่อไปหาบ่อยครั้ง เช่น กรณีที่ผู้เช่าไม่ได้รับสายในเวลางาน ผู้ติดต่อก็มักจะติดต่อไปเวลาอื่นๆที่ต่างออกไป โดยจะไม่ได้ติดต่อไปที่ผู้ติดต่อฉุกเฉินโดยทันที กรณีที่จะติดต่อ “ผู้ติดต่อฉุกเฉิน” ตัวอย่างเช่นกรณีดังต่อไปนี้
- กรณีที่ได้โทรสอบถามเรื่องการต่อสัญญา หรือทวงหนี้ที่ค้างชำระหลายรอบแล้ว แต่กลับไม่สามารถติดต่อผู้เช่าได้
บางครั้งที่ผู้เช่ามีสายโทรศัพท์ที่ไม่ได้รับหลายครั้งแต่กลับไม่ได้ติดต่อกลับ บริษัทดูแลห้องจึงอาจจะต้องติดต่อไปแจ้งผ่านผู้ติดต่อฉุกเฉินแทนให้ทราบเรื่องและให้ผู้เช่ารีบติดต่อกลับ รวมไปถึงกรณีที่สัญญาเช่าใกล้จะหมดแล้วแต่ยังไม่ได้รับการแจ้งความประสงค์จากผู้เช่าว่าต้องการต่อสัญญาหรือยกเลิกสัญญา ก็อาจเป็นอีกกรณีที่ผู้ดูแลจำเป็นต้องติดต่อไปหาผู้ติดต่อฉุกเฉินแทน
- กรณีฉุกเฉิน รอการติดต่อกลับจากเจ้าตัวไม่ได้
ตัวอย่างกรณีฉุกเฉิน เช่น เกิดเหตุอัคคีภัยหรือภัยธรรมชาติ หรือเกิดข้อสงสัย/เหตุร้ายแรง เช่น การเสียชีวิต การหายตัวไป เป็นต้น บริษัทดูแลห้อง/เจ้าของจึงต้องการติดต่อกับผู้เช่าให้ได้เร็วที่สุด ดังนั้นหากติดต่อผู้เช่าไม่ได้ เขาก็จำเป็นที่จะต้องติดต่อไปหาผู้ติดต่อฉุกเฉินให้เร็วที่สุด
แล้วใครต้องมาเป็นผู้ติดต่อฉุกเฉินให้
โดยทั่วไปแล้ว ในกรณีของคนญี่ปุ่นเอง ทางบริษัทค้ำประกันและบริษัทดูแลห้องมักจะขอข้อมูลของคนที่มีความสัมพันธ์เป็นคนในครอบครัวของผู้เช่าเอง แต่ในกรณีของชาวต่างชาตินั้น การติดต่อหาครอบครัวของผู้เช่าถือเป็นเรื่องที่ลำบากเนื่องจากปัญหาของภาษาที่ใช้สื่อสาร ดังนั้นเขามักจะขอเป็นข้อมูลของคนรู้จักที่เป็นคนญี่ปุ่นหรือสามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ โดยทั่วไปจึงแนะนำให้ใช้ข้อมูลของเพื่อน/คนรู้จัก/คนในบริษัทเดียวกันในการกรอกข้อมูล
มักจะมีการติดต่อไปผู้ติดต่อฉุกเฉินในการตรวจสอบผู้เช่าด้วย
ในขั้นตอนการตรวจสอบผู้เช่า อาจมีการติดต่อไปตรวจสอบข้อมูลของผู้ติดต่อฉุกเฉินด้วย เพื่อยืนยันความสัมพันธ์กับผู้เช่าและรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับช่องทางการติดต่อของผู้ติดต่อฉุกเฉินเอง ดังนั้นในใบจองห้องเช่าจึงมักจะมีช่องว่างให้กรอกข้อมูลของผู้ติดต่อฉุกเฉินดังต่อไปนี้
・ชื่อ
・ที่อยู่
・อายุ
・เบอร์โทรศัพท์
・ความสัมพันธ์กับผู้เช่า
ถ้าไม่มีคนรู้จักที่จะเป็นให้ได้ ควรทำอย่างไร
สำหรับท่านที่ไม่มีคนรู้จักในญี่ปุ่นแต่อย่างใด สามารถปรึกษา LandHousing ได้ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนหาห้อง พวกเรายินดีช่วยอำนวยความสะดวกและหาทางออกให้ลูกค้าอย่างเต็มที่