fbpx

ไปหาหมอที่ญี่ปุ่น ยุ่งยากอย่างที่คิดหรือไม่?

เชื่อว่าหลายๆ ท่านที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ในตอนเริ่มต้นอาจจะกลัวการไปหาหมอตามโรงพยาบาลหรือคลินิกเมื่อเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น แต่แท้ที่จริงแล้วการไปหมอที่นั่นไม่ได้น่ากลัวหรือสื่อสารยากอย่างที่คิด

การไปหาหมอที่นั่นควรเตรียมตัวอย่างไร และมีขั้นตอนแบบไหนบ้าง ตามมาดูกันได้เลยค่ะ

เตรียมตัวก่อนไปหาคุณหมอ

  • สิ่งแรกที่ต้องเตรียมไปคือบัตรประกันสุขภาพ ในส่วนของไซริวการ์ดนั้นควรพกติดตัวไปด้วยทุกครั้งกรณีเจ้าหน้าที่ขอดูเพิ่มเติม (แต่เท่าที่ประสบมา บางสถานที่ก็จะขอดูแค่บัตรประกันสุขภาพก็มีเช่นค่ะ)
  • เช็คเวลาของทางโรงพยาบาลหรือทางคลินิกให้แน่ใจว่าเวลาที่จะไปเป็นเวลาที่เปิดทำการอยู่หรือไม่ เนื่องจากที่ประเทศญี่ปุ่นไม่เหมือนประเทศไทยที่สามารถไปโรงพยาบาลได้ทุกเวลาหากไม่สบาย เพราะฉะนั้นถ้าหากไม่อยากไปแล้วเสียเที่ยว ก็ควรเช็คให้แน่ใจก่อนที่จะเดินทางไปดีที่สุดค่ะ
  • กรณีที่สื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ไม่มากหรือไม่มั่นใจ เตรียมคำศัพท์หรืออาการที่เป็นอยู่ไปไว้เลยก็จะดีต่อตัวเองเช่นกันค่ะ เพราะเมื่อไปถึงหน้างาน อย่างน้อยก็จะได้บอกคุณหมอให้รู้ได้ในเบื้องต้นได้ว่าเป็นอะไรอยู่

เมื่อเดินทางไปถึงโรงพยาบาลหรือคลินิก

  • ติดต่อที่เคาน์เตอร์ Information เพื่อแจ้งว่าเราต้องการจะมาพบคุณหมอ ทางเจ้าหน้าที่จะขอดูบัตรประกันสุขภาพของเรา รวมถึงมีเอกสารเบื้องต้นให้กรอกในกรณีที่มาที่นี่ครั้งแรก (ข้อมูลทั่วไปที่ควรต้องบอกให้รู้ เช่น ยาที่แพ้ โรคประจำตัว การตั้งครรภ์ ฯลฯ เป็นต้น) ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด และหลายๆ ที่ก็ไม่มีฉบับภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างชาติ เพราะฉะนั้นอาจจะเสียเวลาในการกรอกข้อมูลสักหน่อย เพราะต้องเปิดหาคำศัพท์ในกรณีที่อ่านคันจิไม่ออก หรือถ้าหากจนถึงท้ายที่สุดแล้วไม่เข้าใจตรงไหนจริงๆ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะหาทางช่วยเราจนถึงที่สุดเช่นกันค่ะ
  • หลังจากที่กรอกเอกสารทุกอย่างเสร็จ จะมีเจ้าหน้าที่หรือพยาบาลเรียกเราไปสอบถามข้อมูลและอาการเบื้องต้นคร่าวๆ อีกที ว่าเราเป็นอะไร มีอาการแบบไหน หรือมีเรื่องใดที่ควรแจ้งให้เขาทราบไว้หรือไม่ ก่อนที่จะเข้าไปพบคุณหมอจริงๆ หลังจากนั้นก็จะเป็นการนั่งรอเพื่อเรียกคิวพบคุณหมอค่ะ

  • เมื่อถึงคิวเข้าพบคุณหมอ คุณหมอจะทำการสอบถามอาการเราอีกครั้ง มีการตรวจเช็คร่างกายตามปกติ ซึ่งถ้าหากเป็นคุณหมอที่พูดภาษาอังกฤษได้บ้าง เขาก็จะพยายามสื่อสารกับเราให้เข้าใจค่ะ หรือบางที่คุณหมอถึงกับเขียนหรือวาดลงกระดาษเพื่อให้เราเข้าใจมากที่สุดก็มีเช่นกัน
  • รอเรียกคิวชำระเงิน และรับใบสั่งยาจากเจ้าหน้าที่

การรับยาและชำระเงินค่ายา

สิ่งที่แตกต่างระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น คือที่ญี่ปุ่นจะไม่สามารถรับยาจากทางโรงพยาบาลหรือคลินิกได้โดยตรง เราจะต้องนำใบสั่งยาที่ได้รับมาไปร้านขายยาที่อยู่ใกล้ๆ กับโรงพยาบาลหรือคลินิกที่เรามาหา ซึ่งปกติแล้วทางเจ้าหน้าที่เขาจะแจ้งเราอยู่แล้วค่ะว่าร้านขายยาที่เราจะต้องไปอยู่ตรงไหน

  • ยื่นใบสั่งยาพร้อมกับบัตรประกันสุขภาพให้กับเจ้าหน้าที่ ทางเจ้าหน้าที่จะให้เรากรอกเอกสาร (อีกแล้ว) ในกรณีที่ไม่เคยมาที่นี่มาก่อน ซึ่งเนื้อหาจะคล้ายๆ กับเอกสารที่เรากรอกข้อมูลให้กับทางโรงพยาบาลหรือคลินิกเลยค่ะ
  • รอทางเจ้าหน้าที่เรียกรับยาพร้อมชำระเงิน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งเราว่ามียาตัวใดบ้าง กินเวลาไหนบ้าง มีรูปยาแต่ละตัวให้อย่างละเอียด และเราจะได้รับสมุดยาเล่มเล็กๆ ที่เอาไว้บันทึกประวัติการรับยากลับมาด้วยค่ะ ซึ่งบางที่ก็จะสามารถเลือกลายสมุดที่ชอบได้ด้วยตัวเองอีกด้วย

หมายเหตุ สำหรับสมุดยาที่ได้รับมา เราสามารถนำไปใช้ได้กับทุกที่ที่เราไปหาหมอและต้องรับยาโดยไม่ต้องทำสมุดเล่มใหม่ค่ะ บางทีเจ้าหน้าที่จะได้ทราบด้วยว่าก่อนหน้านี้เราเคยมีประวัติการกินยาแบบไหนมาบ้าง

ค่าใช้จ่ายทั้งหมดแพงหรือไม่

โดยปกติแล้วถ้าเราไปอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นในสถานะนักเรียนต่างชาติ บัตรประกันสุขภาพที่ถืออยู่สามารถลดได้ถึง 70% เลยค่ะ เพราะฉะนั้นโดยเฉลี่ยคร่าวๆ ในการไปหาคุณหมอรวมถึงค่ายาในหนึ่งครั้ง ค่าใช้จ่ายอาจจะอยู่ราวๆ 1000 เยนปลายๆ ไปจนถึง 3000 กว่าเยนในกรณีที่เป็นไข้หวัดธรรมดาทั่วไป ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ไปว่าอยู่โซนไหนหรือถูกแพงแค่ไหนด้วยเช่นกันค่ะ

ประกันสุขภาพญี่ปุ่นควรทำไว้หรือไม่?

Related post

  1. 3 พิกัดสถานที่เก็บองุ่นทานแบบไม่อั้…

  2. มายนัมเบอร์ (My Number) คืออะไรและม…

  3. สตาร์บัคภาษามือ สาขาแรกในญี่ปุ่น

  4. เคล็ดลับจัด “ฮวงจุ้ย” เสริมดวงให้เฮ…

  5. 3 เรื่องต้องรู้!! ถ้าอยากทำงานกับบร…

  6. ปลูกผักสวนครัวริมระเบียงแบบบ้านญี่ป…

  7. เตรียมถุงยังชีพ พร้อมรับมือแผ่นดินไ…

  8. Valentine’s 限定♡ 5 เมนูร้านดัง…