หลายท่านคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าที่ญี่ปุ่นเมื่อมีการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใดๆ ก็ตาม หากต้องการกำจัดหรือทิ้งของเก่าที่มีอยู่ จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการกำจัดหรือรีไซเคิลสิ่งของดังกล่าว ในครั้งนี้จะมาอธิบายถึงกฎหมายรีไซเคิลของญี่ปุ่นให้ได้ทราบกันค่ะ
เนื้อหา
กฎหมายรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
เป็นกฎหมายที่ถูกบังคับใช้ในปี 2001 สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ต้องการจะกำจัดทิ้ง อาทิเช่น ตู้เย็น ซึ่งผู้ผลิต (maker) ผู้ค้าปลีก (retailer) และผู้บริโภค (Consumer) จะต้องร่วมมือกันปฏิบัติร่วมกัน
เดิมทีแล้วนั้นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกทิ้งยากที่จะกำจัดในโรงขยะ จึงต้องทำการฝังกลบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และการกำจัดเองก็มีขีดจำกัด ทั้งนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าบางส่วนที่ถูกทิ้งยังมีทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อีกด้วย
จากเหตุผลข้างต้น กฎหมายรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน จึงได้เกิดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการลดขยะ และการใช้ทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
บทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย
- ผู้ค้าปลีก : รับและส่งมอบให้กับผู้ผลิต
- ผู้ผลิต : รับและทำการรีไซเคิล
- ผู้บริโภค : ชำระค่าธรรมเนียมในการรีไซเคิลและการขนย้าย
กฎหมายรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านครอบคลุมสิ่งใดบ้าง
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกระบุไว้ในกฎหมายรีไซเคิล มีดังต่อไปนี้
- เครื่องปรับอากาศ
- โทรทัศน์ (CRT, LCD, Plasma)
- ตู้เย็น, ตู้แช่แข็ง
- เครื่องซักผ้า, เครื่องอบผ้า
ซึ่งทั้ง 4 รายการจะต้องเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ภายในบ้านเท่านั้น
นอกเหนือจากนั้นแล้ว ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรทัศน์บางประเภท อาทิเช่น Projection TV ที่กฎหมายรีไซเคิลไมได้ครอบคลุมถึง เพราะฉะนั้นจำเป็นจะต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนล่วงหน้า
ควรทำอย่างไรกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ต้องการใช้แล้ว?
- แจ้งร้านค้าปลีกมารับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ต้องการแล้ว
ในกรณีที่ซื้อใหม่ ให้ร้านค้าปลีกที่ได้ทำการซื้อสินค้าใหม่ดังกล่าวเป็นผู้มารับไป
ในกรณีที่ต้องการกำจัดทิ้ง (ยังไม่ได้ซื้อสินค้าใหม่) ให้ร้านค้าปลีกที่ได้ทำการซื้อสินค้าในตอนนั้นเป็นผู้มารับไป
ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะมี ค่าธรรมเนียมในการรีไซเคิล + ค่าธรรมเนียมในการขนย้าย หากไม่ทราบว่าร้านที่เคยซื้อมาอยู่ที่ใด หรือร้านค่อนข้างไกล ให้ติดต่อสอบถามไปที่สำนักงานเทศบาลในเขตที่ตนเองอยู่อาศัย
- ใช้ตั๋วรีไซเคิลและนำเครื่องใช้ไฟฟ้าไปไว้ยังสถานที่ที่ถูกกำหนดไว้ด้วยตัวเอง
ชำระค่าธรรมเนียมรีไซเคิล พร้อมกับซื้อตั๋วรีไซเคิลได้ที่ไปรษณีย์ ในแต่ละเขตสำนักงานเทศบาลจะมีจุดกำหนดในการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวไปไว้ได้โดยตรง ซึ่งในกรณีนี้จะเสียเพียงค่าธรรมเนียมในการรีไซเคิลเท่านั้น
เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กอื่นๆ ควรจัดการเรื่องรีไซเคิลอย่างไร?
นับตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2013 กฎหมายรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กภายในบ้าน อาทิเช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ กล้องวีดิโอก็ได้เริ่มขึ้นเช่นกัน
มีทรัพยากรที่ยังเป็นประโยชน์มากมายภายในเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่ทุกคนสามารถให้ความร่วมมือกันในการรีไซเคิลได้ การรวบรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กที่ไม่ใช้แล้ว รวมถึงสถานที่ในการเก็บผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างกันไปในแต่ละเขตท้องถิ่น กรุณาตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากสำนักงานเขตเทศบาลในพื้นที่อยู่อาศัยนั้นๆ
การจัดการกับขยะที่ญี่ปุ่นอาจจะเป็นวีธีที่ค่อนข้างยากและซับซ้อนกว่าการทิ้งขยะในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เพื่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเพื่อส่วนรวม อย่าลืมปฎิบัติตามกฎที่ประเทศญี่ปุ่นอย่างเคร่งครัดด้วยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://pro.bookoffonline.co.jp/life/recycle/20150630-kaden-recycle.html