fbpx

แชร์ประสบการณ์จากการเรียนเซนมงสู่การหางานในญี่ปุ่น

ผู้ให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ได้รับการแนะนำต่อจากคุณก้องผู้ให้สัมภาษณ์ในบทก่อนหน้า ซึ่งเป็นน้องสาวของคุณก้องเอง ชื่อ คุณจ๋า จากการสัมภาษณ์ครั้งนี้จะทำให้ผู้อ่านทุกท่านได้ข้อมูลสนุกๆเกี่ยวกับการมาเรียนจนกระทั่งหางานและได้งานทำที่ญี่ปุ่น ซึ่งตัวผู้สัมภาษณ์เองยังรู้สึกสนุกไปกับสตอรี่ของคุณจ๋าอย่างมาก คุณจ๋าจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจอะไรมาแชร์บ้าง ตามไปอ่านกันเลยค่ะ

คือตอนที่เราคิดจะทำอะไรอ่ะ มันเป็นจุดที่เรามีไฟที่สุด อย่างถ้าคิดอยากจะไปญี่ปุ่น ช่วงหนึ่งเดือนนั้นอ่ะ จะเป็นช่วงที่เรามีไฟที่อยากจะเรียนภาษาญี่ปุ่น เหมือนเวลาเราชอบไอดอลอ่ะ เราก็จะดูผลงานเค้าได้ติดต่อกันเป็นเดือนอะไรแบบนั้น มันก็จะเป็นช่วงที่เรามีไฟที่สุด เราก็ต้องทำตอนนั้นเลย

ไม่ทราบว่าก่อนมาญี่ปุ่นคุณจ๋าเรียนอะไรมาคะ

คุณจ๋า:

เรียนจบมนุษย์ศาสตร์เอกภาษาอังกฤษที่ม.กรุงเทพค่ะ

คือไม่ได้เรียนเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นมาก่อนเลย

คุณจ๋า:

ไม่เลย คือไม่เคยคิดที่จะเรียนภาษาญี่ปุ่นมาก่อนเลย

แล้วทำไมถึงมาญี่ปุ่นได้ คือเราเรียนภาษาจากไทยมาก่อนแล้วค่อยมาญี่ปุ่นหรือเปล่า

คุณจ๋า:

ไม่ได้เรียนภาษาจากที่ไทยมาเท่าไหร่เลย

แล้วทำไมถึงมาญี่ปุ่นได้เหรอคะ

คุณจ๋า:

ตอนแรกตัดสินใจว่าจะมากับพี่ชาย (คุณก้องที่เคยได้ให้สัมภาษณ์กับพวกเราแล้วค่ะ) แต่ว่าตอนนั้นพอเรียนจบม.กรุงเทพ ก็ทำงานเกี่ยวกับเอเจนซี่โฆษณาที่ไทยประมาณ 7 ปี แล้วพี่ชายอยากจะมาญี่ปุ่น ครอบครัวก็เลยบอกว่าให้มาด้วยกัน

บทสัมภาษณ์คุณก้อง (Jaithep Raroengjai)

ก็คือที่บ้านบอกให้มาด้วย

คุณจ๋า:

ใช่ เราก็โอเคมาก็ได้ และยังไงต่อ (หัวเราะ)

แล้วรู้สึกกังวลบ้างไหมคะว่าเรามาญี่ปุ่นโดยไม่ได้ภาษาอะไรเลยแล้วเราจะอยู่ยังไง

คุณจ๋า:

ก็รู้สึกนะ แต่เรามาเที่ยวบ่อย ก็เลยรู้สึกว่าเราน่าจะอยู่ได้แหละ เพราะว่าอาหารการกินของญี่ปุ่นก็ไม่ได้ยากสำหรับเราขนาดนั้น ซูชิอะไรเราก็กินได้ ติดแค่ว่าก่อนที่จะมาเราไปเรียนภาษาญี่ปุ่น 2 คอร์สที่สถาบันสอนภาษาที่อโศก แล้วก็จบแค่ตรงนั้น ซึ่งเราก็คิดว่าก็คงจะพอได้แล้วแหละ แล้วก็บินมาญี่ปุ่นเลย (หัวเราะ) พอมาถึงมาเข้าโรงเรียนสอนภาษาที่นี่ ซึ่งในตอนนั้นที่เรามากฏจะไม่เหมือนกับตอนนี้ที่ต้องมี N5 กับจำนวนชั่วโมงเรียนภาษาญี่ปุ่น ตอนที่เรามาคือไม่มี N เลย

 ตรงนี้อยากรู้จังเลยว่า ความรู้สึกก่อนมากับหลังจากที่มาแล้วต่อประเทศญี่ปุ่นมีความแตกต่างยังไงบ้าง

คุณจ๋า:

จริงๆแล้ว การที่เรามาเที่ยวในฐานะนักท่องเที่ยว เราก็คือนักท่องเที่ยวอ่ะ เราคือแขกของบ้านเค้า แต่พอวันนึงที่เรามาอยู่ อันนี้มันคือชีวิตอ่ะ เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับวัฒนธรรมที่เราเข้าใจกันว่าเค้าเป็นคนที่เถรตรงมาก เดินเป็นเส้นตรง ซึ่งมันใช่จริงๆ (หัวเราะ)

 ต้องปรับตัวเยอะไหมคะ

คุณจ๋า:

มาก

เช่นอะไรบ้างคะ

คุณจ๋า:

ตอนแรกที่เราเรียนภาษา ไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก เพราะทุกคนเป็นเด็กต่างชาติ จนกระทั่งสอบเข้าโรงเรียนทำอาหารได้ ที่เค้าเรียกกันว่าเซมมง คือคอร์สที่เราเลือกมีคนต่างชาติน้อยมาก เพราะเราตัดสินใจที่จะเรียนกับคนญี่ปุ่นล้วน

study in japan

ตอนที่เข้าเซมมงก็คือภาษาเราได้แล้วใช่ไหมคะ

คุณจ๋า:

ตอนนั้นเรียนภาษาญี่ปุ่นมาแล้วปีครึ่ง ได้ N3 มาแบบงงๆ แต่ตอนนั้นคันจิเราไม่ได้เลยนะ อ่านไม่ออกเลย แต่เราพูดได้ ทุกคนก็บอกว่าอ่านไม่ออกทำไมพูดได้

อาจจะเป็นเพราะว่าเรามาอยู่ที่นี่เราก็ได้พูดหรือเปล่าในชีวิตประจำวัน

คุณจ๋า:

ใช่ แต่ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเราทำงานพิเศษตั้งแต่มาอยู่เลย

ตั้งแต่มาใหม่ๆตอนที่ยังเรียนภาษาญี่ปุ่นเลยเหรอคะ

คุณจ๋า:

ใช่ ตอนเรียนภาษาญี่ปุ่นได้ 4 เดือน เราก็รู้สึกว่า ไม่ได้อ่ะ ถ้าเรียนแค่ในห้องเรียนอย่างเดียวมันไม่รอด วันนึงเราเรียนไม่กี่ชั่วโมงแล้วเราอยู่แต่กับคนต่างชาติเหมือนกัน เค้าก็ไม่พูดญี่ปุ่นกับเรา ก็เลยตัดสินใจไปทำร้านอุด้ง มารุกาเมะเซเมง

ปกติเค้าจะเริ่มจากร้านอาหารไทย อันนี้เราสมัครร้านญี่ปุ่นเลย

คุณจ๋า:

ไม่ เราฉีกเลย

แล้วเค้ารับเราด้วยเหรอคะ ทั้งที่ภาษาไม่แข็งแรง

คุณจ๋า:

เค้ารับนะ บอกว่าเค้าดูจากลักษณะท่าทางของเราว่าดูเฟรนด์ลี่ เค้าก็เลยรับเรา เราก็ไปทำอยู่ตรงครัว ที่รับออเดอร์ลูกค้าไปด้วย ถ้าใครเคยทานจะนึกออก ที่ลูกค้าจะหยิบถาดแล้วสั่งต่อหน้าเราก็ทำตรงนั้นเลย ซึ่งวันแรกที่เราทำคือไม่ได้เลย ไม่รู้เรื่องเลย ตู้เย็นคืออะไรยังไม่รู้เลย

แล้วเค้าไม่มีสอนงานก่อนเหรอคะ

คุณจ๋า:

เค้าก็สอนตรงนั้นเลย สอนเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเราเพิ่งมาเรียนได้ 4 เดือน ยังไม่รู้อะไรเลย (หัวเราะ)

เพื่อนร่วมงานไม่ว่าอะไรเราใช่ไหมคะ

คุณจ๋า:

เค้ารู้ว่าเราไม่ได้ภาษาญี่ปุ่นเท่าไหร่ เค้าก็จะค่อยๆสอน พร้อมทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ข้อดีอีกอย่างคือคนญี่ปุ่นรักคนไทย คนญี่ปุ่นชอบเมืองไทย พอเราบอกว่าเราเป็นคนไทย เค้าจะมีความแบบ “อ๋อคนไทย คนไทยใจดี ฉันชอบเมืองไทย ชอบกินต้มยำกุ้ง” อะไรแบบนี้

กลับมาต่อที่เรื่องทำงานพิเศษ พอเราเริ่มงานเราก็ค่อยๆเริ่มเรียนรู้ศัพท์ต่างๆ พวกศัพท์ในครัว ศัพท์ที่ใช้คุยกับลูกค้า แต่ตอนเข้าไปตอนแรก เค้าบอกให้เราไปหยิบอะไรมาให้ เราก็ฟังไม่รู้เรื่องเลย

เห็นว่าพอมาอยู่ญี่ปุ่น คุณจ๋าก็จะวนเวียนอยู่กับด้านอาหาร ทั้งๆที่ตอนอยู่ไทยไม่ได้เรียนหรือทำงานเกี่ยวกับด้านนี้มาเลยใช่ไหมคะ

คุณจ๋า:

ใช่ ตอนเราอยู่ไทยเราเป็น Account Manager

พอมาอยู่ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนสายเลย

คุณจ๋า:

ใช่ เหมือนเราเริ่มต้นใหม่เลย รีเซ็ตศูนย์

ทำไมถึงพลิกได้ขนาดนั้นเหรอคะ

คุณจ๋า:

มันเริ่มจากว่า ก่อนที่เราจะตัดสินใจเปลี่ยน เราคิดว่าเราจะทำอะไรที่นี่ คือทางพี่ชายตั้งเป้าหมายแล้วว่าจะมาเรียนทำเพลง แล้วเราก็รู้ว่าที่นี่มันจะมีโรงเรียนเฉพาะทางจริงๆในแต่ละสาย ที่มันสเกลเล็กมาก เจาะลึกมาก เราก็มาคิดว่าเราจะเรียนอะไรดี ก็เริ่มจากที่แม่แนะนำให้ไปลองเรียนทำขนมก่อนที่เมืองไทย เพราะว่าตอนเราทำโฆษณา เราก็จะรู้แต่เรื่องที่เป็นโฆษณา มาที่นี่จะให้เราไปเรียนวาดรูป ไปทางสาย Art แบบนี้เราก็ทำไม่เป็น เพราะเราเป็นเออีขายงานให้ลูกค้า แต่ตอนนั้นเราเห็นเค้าฮิตทำขนมกัน เราก็เลยคิดว่างั้นมาเรียนทำเค้กที่ญี่ปุ่นแล้วกัน แต่ว่าก่อนจะไปถึงตอนเรียนทำเค้กได้นั้น เราต้องเรียนภาษาให้ได้อย่างน้อย N3 ก่อน จริงๆเค้าเอา N2 แต่ว่าเรามีเวลาเรียนภาษาแค่ 1 ปีครึ่ง เพราะเรามาช่วงกลางภาค เค้าเรียนไปแล้วครึ่งปี พอเรียนได้ปีครึ่งเราก็ไปสอบวัดระดับ

ได้อ่านไหมคะ

คุณจ๋า:

อ่านค่ะ แต่ว่าไม่เข้าใจ (หัวเราะ) แต่ว่าข้อดีคือ เรามาอยู่ที่นี่ เราเห็นมันทุกวัน เราเห็นคันจิทุกวัน ถึงตอนนั้นเราจะอ่านไม่ออกแต่เราเห็นทุกวัน เราฟังทุกวัน เราก็เอาสิ่งที่เราเรียนมาไปใช้กับคนญี่ปุ่นดูว่าเค้าเข้าใจเราไหม เชื่อไหม จะพูดคำๆนึงนี่ฝึกอยู่เป็นเดือนเลยนะ กว่าเค้าจะเข้าใจว่าเราพูดว่าอะไร

เท่าที่ฟังมา คุณจ๋าเป็นคนมุ่งมั่น คิดแล้วทำเลย ไม่ลังเลหรือกลัว ดูคาแรคเตอร์คุณจ๋าเป็นแบบนั้น

คุณจ๋า:

จ๋าเป็นคนที่แบบยังไงดีล่ะ คือตอนที่เราคิดจะทำอะไรอ่ะ มันเป็นจุดที่เรามีไฟที่สุด อย่างถ้าคิดอยากจะไปญี่ปุ่น ช่วงหนึ่งเดือนนั้นอ่ะ จะเป็นช่วงที่เรามีไฟที่อยากจะเรียนภาษาญี่ปุ่น เหมือนเวลาเราชอบไอดอลอ่ะ เราก็จะดูผลงานเค้าได้ติดต่อกันเป็นเดือนอะไรแบบนั้น มันก็จะเป็นช่วงที่เรามีไฟที่สุด เราก็ต้องทำตอนนั้นเลย แล้วพอถึงตรงที่เราหมดไฟ เราค่อยคิดอีกทีว่ามันจะยังไงต่อ (หัวเราะ) จริงๆนะ เมื่อเราลงเรือมาแล้วเราก็ค่อยคิดอีกทีว่าจะยังไงต่อ

ขอกลับมาเรื่องของความรู้สึกก่อนมากับหลังมาญี่ปุ่นกันต่อ

คุณจ๋า:

พอมาแล้ว สำหรับจ๋าจ๋าว่ามันเหมือนเดิมนะ แต่ว่ามันจะมีบางอย่างที่เราเห็นในความเคร่งเครียดในสิ่งที่ประเทศเราไม่มีอ่ะ อย่างสมมุติว่า เราเข้าไปเรียนในโรงเรียนญี่ปุ่น ถ้าเราอ่านในการ์ตูนเราจะเห็นว่ามันมีการบุลลี่ ก่อนหน้านี้เราก็คิดว่า ไม่มั้ง มันจะมีเรื่องแบบนั้นจริงๆเหรอ ซึ่งเราก็ได้เห็นของจริง ว่ามันมีจริง แล้ววิธีมันเป็นยังไง เราก็ได้เห็น คือโลกมันมีสองด้านอยู่แล้ว ทั้งด้านดีและไม่ดี แต่สิ่งที่พอเรามาอยู่ที่นี่ เทียบกับตอนเรามาเที่ยว ตอนนั้นเราจะเห็นแต่ด้านดี พอเราเห็นด้านไม่ดี แต่ถามว่าด้านไม่ดีนั้นเราได้เรียนรู้อะไร เราก็ได้เรียนรู้จากลักษณะนิสัยของเขา เราจะเข้าใจว่า อ๋อ ก็วัฒนธรรมเค้ามันเป็นแบบนี้

 แล้วมีเรื่องที่รู้สึกว่าคัลเจอร์ช็อคบ้างไหมคะ

คุณจ๋า:

มี แต่บอกไว้ก่อนนะว่าคาแรคเตอร์ของจ๋ามันจะมีความบ้าบิ่นอยู่ในตัวเองสูง ข้อดีของคนไทยเราเป็นคนตลก ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญของเราใช้ชีวิตที่นี่ เราไม่เคยรู้เลยจนกระทั่งเรามาที่นี่ว่า อ๋อ ความตลกของเราเนี่ยแหละมันเป็นเรื่องที่ดี

ยังไงเหรอคะ

คุณจ๋า:

ยกตัวอย่าง อย่างตอนที่เข้าไปเรียนภาษา เราฟังไม่รู้เรื่อง เวลาที่เราเรียนในโรงเรียนมาเค้าก็จะสอนแบบถูกต้องตามแกรมม่า เหมือนอย่างถ้าเราเรียนภาษาไทยก็จะ “ฉันรับประทานอาหารเช้า” อะไรแบบนี้ แต่พอเราเข้าไปถึงในโรงเรียนที่ทุกคนเป็นเด็กญี่ปุ่นอ่ะ เราทำไม่เป็นแม้กระทั่งการยืนตรงแล้วโค้ง ตามมารยาทที่ต้องทำความเคารพคุณครู ซึ่งเราทำไม่เป็นเลย จังหวะมันไม่ได้เลย โค้งไม่ทันเพื่อนเลย หรือว่ามีเพื่อนมาคุยกับเราเค้าก็ใช้ภาษาพูด แต่เราฟังไม่รู้เรื่องเลย อันนี้คือตอนที่เรียนเซมมงทำอาหารนะ ส่วนตอนเรียนภาษามันจะไม่ค่อยมีอะไรนะ เพราะมันเป็นคอมฟอร์ทโซน ด้วยความที่ทุกคนก็เป็นคนต่างชาติหมด แต่หลังจากที่เรียนเซมมงเราก็เจอกับวัฒนธรรมที่เป็นญี่ปุ่นมากขึ้น โดยจ๋าซึมซับมาตั้งแต่ระหว่างที่เรียนภาษาญี่ปุ่นเพราะเราไปทำงานพิเศษกับคนญี่ปุ่น จริงๆตอนนั้นจ๋าร้องไห้อยู่เป็นเดือนนะ ร้องไห้แบบ “ไม่ทำแล้วเว้ย” อะไรแบบนี้เลย คือจ๋าทำงานที่มารุกาเมะเซเมงได้แป็บนึงแล้วก็ออก เพราะว่าตีกับคนญี่ปุ่น คือคนที่ใจดีก็มี แต่มันก็จะมีคนที่แบบว่าพอเราฟังไม่รู้เรื่องก็จะด่าเราว่าไอ้โง่บ้าง มันก็มี แต่ด้วยความที่เรามีเลือดนักสู้ ก็เลยสู้กลับ สุดท้ายจ๋าก็เลยขอลาออกแล้วไปทำที่แมคโดนัล ตอนนั้นเราอยู่ญี่ปุ่นได้ประมาณครึ่งปี ยังพูดภาษาสุภาพของญี่ปุ่นไม่ได้ ตอนสัมภาษณ์งานก็ตอบได้แค่ว่าบ้านอยู่ไหน ทำงานได้วันไหนถึงวันไหนบ้าง แค่นั้น สุดท้ายเค้าบอกให้เราไปทำแคชเชียร์

เดี๋ยวนะ...

คุณจ๋า:

จริง อันนี้ก็คัลเจอร์ช็อคอยู่ (หัวเราะ) ตอนทำแคชเชียร์คือทำสาขาชิบุย่า ร้องไห้อยู่เดือนนึง คาตาคานะเรายังอ่านไม่คล่องเลย เค้าสอนเราเหมือนว่าเราเป็นคนญี่ปุ่นเลย แล้วคนญี่ปุ่นเค้าจะเป็นคนแบบมุ่งมั่นอ่ะ เค้าชัดเจน แล้วเค้าปกป้องตัวเองเก่ง ซึ่งอันนี้คือข้อดีของเค้าเลยนะ คือเค้ามีวิธีปกป้องตัวเองที่ถูกต้อง สิ่งที่เค้าทำสิ่งที่เค้าคิดคือการคิดมาดีแล้วในการปกป้องพนักงาน กฎต่างๆมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันความเสี่ยงไว้แล้ว เค้าคิดละเอียดมาก แต่ตอนนั้นเราก็คัลเจอร์ช็อคนิดนึง ส่งเราไปอยู่แคชเชียร์

แล้วพอเรียนทำอาหารจบ ตอนหางานเป็นยังไงบ้างคะ

คุณจ๋า:

อันนี้ก็คัลเจอร์ช็อค คือ เราไม่เคยใส่สูทไปสัมภาษณ์งาน ตอนยังเรียนอยู่เค้าก็จะบอกว่าเราต้องเตรียมสูทเพื่อใช้สัมภาษณ์งานนะ ซึ่งเราไม่เคยใส่สูทในชีวิตเลย ไม่มี แล้วเค้าก็จะมีมารยาทเกี่ยวกับองศาในการโค้งที่ถูกต้อง ซึ่งเราซ้อมอยู่เป็นเดือน เพื่อใช้แค่ตอนเคาะประตูแล้วขออนุญาตเข้าห้อง(สัมภาษณ์)

คุณจ๋าหางานยังไงคะ

คุณจ๋า:

ตอนจะเรียนจบ ซึ่งตอนนั้นเราผ่าน N2แล้ว ข้อดีของโรงเรียนเซมมงที่นี่คือเค้าจะมีคอนเนคชัน เราก็แจ้งครูแนะแนวไปว่าเราอยากหางานที่นี่ คือแนะนำเลย ถ้าใครจะมาเรียนเฉพาะทางควรจะเข้าโรงเรียนที่เป็นเซมมง หรือเข้ามหาลัยที่มันถูกต้องไปเลย เพราะว่าโรงเรียนทุกโรงเรียนเค้าจะมีคอนเนคชันอยู่ อย่างเช่น โรงเรียนทำอาหาร เค้าก็จะมีคอนเนคชันของธุรกิจอาหาร โรงแรม อะไรแบบนี้ แล้วเค้าจะมีอีเวนท์ให้โรงแรมต่างๆมาดูเด็ก เช่น ถ้าเด็กคนนี้ทำอาหารเก่งมากๆ มีแววว่าจะเป็นโปรได้ โรงเรียนจะเชิญฝ่ายบุคคลของโรงแรมที่เด็กคนนั้นอยากเข้ามาที่โรงเรียน เพื่อมาดูเด็กทำอาหารในห้องเรียนเลย ยืนอยู่ข้างนอกประตูกระจก แล้วก็ยืนดูว่าเด็กคนนี้เป็นยังไง แล้วทุกๆปีมันจะมีช่วงฤดูหางาน ประมาณเดือนตุลาคม แล้วตกลงทำสัญญาให้เสร็จกันในเดือนมกราคม เค้าจะเซ็นสัญญาก่อนเราเรียนจบ แล้วเริ่มงานเดือนเมษายน

ในช่วงหางาน โรงเรียนก็จะเชิญโรงแรมหรือบริษัทที่เกี่ยวกับอาหารมาที่โรงเรียน แล้วจัดงานแนะแนว แนะนำบริษัทตัวเอง ส่วนนักเรียนก็ดูว่าอยากจะเข้าที่ไหน รายละเอียดเงินเดือนต่างๆก็มีให้หมดเลย แล้วเด็กสนใจที่ไหนก็แจ้งครูแนะแนว พอแจ้งแล้วครูแนะแนวก็จะส่งข้อมูลของเราไป

ครูแนะแนวจะอารมณ์เหมือนแมชชิ่งให้ใช่ไหมคะ

คุณจ๋า:

ใช่ แบบนั้นเลย จ๋าก็บอกเค้าไปว่าอยากทำอาหารอะไร เค้าก็จะเอาแคตตาลอคมาให้เราดู แล้วในโรงเรียนมีห้องที่เค้าเรียกว่าห้องหางาน ในห้องนั้นจะมีประวัติของบริษัทเกี่ยวกับอาหารหมดเลย เต็มเลย เราก็สามารถเข้าไปหาเลยว่าถ้าเราอยากทำตำแหน่งนี้ เรทเงินเดือนขั้นต่ำเท่าไหร่ ทำงานกี่ชั่วโมง บริษัทเปิดมากี่ปี มีประวัติของบริษัททั้งหมดเลย ซึ่งจ๋าก็ได้งานจากขั้นตอนตรงนี้ จ๋าก็ไปบอกว่าเราอยากทำอาหารอะไร รายละเอียดยังไง แล้วก็นัดสัมภาษณ์ ตอนสัมภาษณ์เราก็สัมภาษณ์ร่วมกับคนญี่ปุ่น คือเราก็ไปสู้กับเด็กญี่ปุ่น

เคยเห็นในละครที่แบบให้ผู้สัมภาษณ์เข้าไปในห้องพร้อมกันหลายคน แบบนั้นเลยหรือเปล่าคะ

คุณจ๋า:

จ๋าโชคดีตรงที่ว่าตอนที่จ๋าไปสัมภาษณ์ เค้ามีการสัมภาษณ์ใหญ่กันไปหมดแล้ว จ๋าไปสุดท้ายเลยได้สัมภาษณ์คนเดียว แต่จริงๆแล้วในห้องสัมภาษณ์เค้าจะต้องเข้าไปพร้อมกัน 5-10 คน แล้วมีผู้สัมภาษณ์นั่งเรียงกันหลายๆคน แล้วโรงเรียนจะเทรนเราตั้งแต่การเขียนใบสมัครไปจนถึงการตอบคำถาม เทรนแม้กระทั่งวิธีการเคาะประตู ท่านั่งว่าต้องนั่งกี่องศา การแต่งหน้าและการทำผมไปสัมภาษณ์ ตอนเทรนครูบอกจ๋าว่าวันสัมภาษณ์ให้แต่งหน้าสีพีชนะคะ ทาปากสีชมพูนะคะ ผมนี่ขอปิดเรียบนะ อะไรอย่างนี้เลย เพราะเค้ามองว่าอาชีพเฉพาะทางเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เค้าไม่ได้มองว่าเราเป็นแม่ครัวพ่อครัวอย่างเดียว ที่นี่เค้ามองคนที่มีอาชีพเฉพาะทางว่าเป็นคนที่มีสกิลพิเศษ เลยกลายเป็นว่าเค้าค่อนข้างให้เกียรติคนที่มีสกิลเฉพาะทาง

ความคัลเจอร์ช็อคมันยังมีอีก คือ เราต้องซ้อมนั่ง ซ้อมวางกระเป๋า เราต้องมีกระเป๋าแบบไหน อันนี้ซ้อมหมดเลย เป็นแบบนั้นจริงๆ เพื่อนจ๋าที่เป็นคนญี่ปุ่น เค้าบอกว่าจ๋าโชคดีที่ได้สัมภาษณ์คนเดียว ซึ่งคนสัมภาษณ์จะมีหลายคน แล้วก็ไม่ได้สัมภาษณ์รอบเดียวนะ จะมีสามรอบ แต่จ๋าโดนแค่สองรอบ เพราะเวลาของจ๋ามันกระชั้นชิด

แล้วพอเริ่มทำงานแล้วเป็นยังไงบ้างคะ

คุณจ๋า:

ทำงานในร้านอาหารญี่ปุ่นบอกเลยว่าเคี่ยวค่ะ เคี่ยวมาก อารมณ์มาสเตอร์เชฟ ซึ่งความพีคคือจ๋าไม่ได้เก่งอาหารญี่ปุ่น จ๋าบอกไปแล้วตอนสัมภาษณ์ ตอนแรกจ๋าเลือกอาหารสเปน แต่เค้าส่งจ๋าไปทำอาหารญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นเราทำอาหารญี่ปุ่นไม่เป็นเลย

เค้าใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกเหรอคะ

คุณจ๋า:

ไม่รู้เหมือนกัน แต่ตอนนั้นมันช่วยไม่ได้เพราะมีโคโรน่า เราก็เลยเลือกไม่ได้ เราก็ไปทำที่ร้านอาหารญี่ปุ่น ก็เริ่มชินแล้วค่ะ แต่ว่าในครัวที่ทำงานอยู่ทุกอย่างจะมีคู่มือ ต้องทำตามคู่มือทั้งหมด ว่าใส่เท่าไหร่ก็คือเท่านั้น ต้มกี่นาทีก็ต้องเท่านั้น

แล้วแบบนี้เราจะใช้สกิลของเราตอนไหนเหรอคะ

คุณจ๋า:

สกิลของเราที่เราจะได้ใช้คือ จ๋าเป็นพนักงานประจำ เพราะฉะนั้นเวลาพนักงานพาร์ทไทม์ทำอะไรเราก็ต้องรู้ว่าถ้าเกิดความผิดพลาดมันเกิดจากตรงไหน อีกอย่างคือเราต้องทำให้เร็ว อย่างเราเรียนทำอาหารมาเราจะหั่นได้เร็วกว่าคนที่ไม่ได้เรียนมา แล้วด้วยความที่เราทำมาเวลาเราจับอาหารอันนี้เราก็จะสังเกตได้ว่ามันผิดปกติยังไง

ตอนเรียนทำอาหาร เราต้องเรียนถึงขั้นไวรัสในร่างกายเลยนะ ต้องรู้ว่าไวรัสจากอาหารที่จะเข้าร่างกายมนุษย์เราเนี่ยมันมีกี่ประเภทและมีอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้คนทานเกิดอาการท้องเสีย หรือถ้าทำไปแล้วจะส่งผลกระทบยังไงกับลูกค้าบ้าง อาการแบบนี้เกิดจากไวรัสแบบไหน เป็นต้น ถามว่ายากไหมก็ยากมาก เราต้องเรียนเกี่ยวกับอวัยวะในร่างกายทั้งหมด เป็นภาษาญี่ปุ่น (หัวเราะ) ยากมากเลย แต่ก็ถือว่าเป็นการก้าวกระโดดในการเรียนภาษาไปในตัวด้วย

สำหรับจ๋านะ ญี่ปุ่นก็ยังเป็นประเทศที่รู้สึกว่าอาศัยง่ายกว่าประเทศอื่นๆนะ เพราะว่าเรื่องอาหารการกิน หรือวัฒนธรรมที่มีความใกล้เคียง แต่มันก็จะมีความคัลเจอร์ช็อคกับเรื่องแบบคนไทยเป็นคนสบายๆ แล้วพอมาอยู่กับคนญี่ปุ่นที่เป็น 100% เราจะรู้สึกแบบว่า อิหยังวะ อะไรแบบนี้นิดนึง (หัวเราะ) ซึ่งถ้าเราผ่านไปได้มันก็ถือว่าได้อยู่

สุดท้ายแล้ว อยากให้คำแนะนำน้องหรือเพื่อนๆที่คิดจะมาเรียนหรือหางานทำที่ญี่ปุ่นหน่อยค่ะ

คุณจ๋า:

สำหรับจ๋าก็คือถ้าเราคิดอยากจะมาอยู่ต่างประเทศอ่ะ ไม่อยากให้น้องๆทุกคนคิดว่ามาแล้วอยู่ในคอมฟอร์ทโซน อาจจะเป็นเพราะชีวิตจ๋ามันแหวกแนวนิดนึงนะ แต่มันได้เห็นอะไรหลายๆด้านในประเทศที่เรามาอยู่ ได้เห็นวัฒนธรรม ความคิด วิถีชีวิต ที่แบบถ้าเราอยู่ในคอมฟอร์ทโซนของเราตลอดเวลา เราก็จะพูดแต่ภาษาไทย อยู่แต่กับคนไทยอะไรแบบนี้ แต่จ๋ารู้สึกว่ามาอยู่ได้ไม่ได้ลำบาก เพียงแต่อย่ายึดติดกับคอมฟอร์ทโซน อยากจะทำทำเลย อยากจะมาก็มา มาแล้วไม่ได้ก็กลับ ชีวิตมันมีแค่นี้จริงๆ คือยังไงเมืองไทยก็เป็นบ้านของเราอยู่แล้ว เราแค่ก้าวออกมาจากบ้านที่เป็นคอมฟอร์ทโซนของเรา เพื่อมาเรียนรู้โลกกว้าง เราสามารถเอาสิ่งที่เราเจอในโลกกว้างนี้กลับไปใช้ที่บ้านเราได้ แค่ลองมาทำดูก่อน ไม่ได้ก็กลับบ้าน แค่นั้นจริงๆ ไม่ต้องกลัวเลย เพราะคนที่นี่เค้าก็รักเรา

คือโลกมันมีสองด้านอยู่แล้ว ทั้งด้านดีและไม่ดี แต่สิ่งที่พอเรามาอยู่ที่นี่ เทียบกับตอนเรามาเที่ยว ตอนนั้นเราจะเห็นแต่ด้านดี พอเราเห็นด้านไม่ดี แต่ถามว่าด้านไม่ดีนั้นเราได้เรียนรู้อะไร เราก็ได้เรียนรู้จากลักษณะนิสัยของเขา เราจะเข้าใจว่า อ๋อ ก็วัฒนธรรมเค้ามันเป็นแบบนี้

ประวัติผู้ให้สัมภาษณ์

คุณกุลวรา ร่าเริงใจ (จ๋า) อายุ 32 ปี

อาชีพ ทำอาหาร (ร้านอาหารญี่ปุ่น)

การศึกษา

Tokyo Culinary and Confectionery Arts Academy

Bangkok University (B.A. Humanities) English Major

Related post

  1. ตั๋วรายเดือนของญี่ปุ่นซื้อที่ไหน? ใ…

  2. sakura

    New! 5 กิจกรรมสุดฮิต! ที่ห้ามพลาดใน…

  3. สำรวจเทรนด์อาหารการกินของคนญี่ปุ่นใ…

  4. 【ประสบการณ์】กลับมาที่ญี่ปุ่นอีกครั้…

  5. 10 ข้อที่ควรปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดิน…

  6. ไอเดียแต่งห้องแบบญี่ปุ่น *เรื่องของ…

  7. ขั้นตอนการยกเลิกสัญญาห้องที่ญี่ปุ่น…

  8. โหลดเลย!! แอปพลิเคชั่นแนะนำสำหรับผู…